ยินดีต้อนรับ สู่บล็อกวิชาก้าวทันโลกศึกษา

ปัญหาสังคมและวัฒนธรรม

แหล่งเรียนรู้ 

               1. ปัญหาและการแก้ปัญหาของโลกคลิกที่นี่
                 ที่มาเว็บไซต์ http://human.tru.ac.th/elearning/local/global04/index4.html


  

               2. ปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาของสังคมโลก
                    ข้อมูลจาก http://web.kku.ac.th/myongy/text/f3.htm


ความนำ
                สังคมโลกได้วิวัฒนาการมาโดยตลอดตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ จนกระทั่งถึงยุคข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันนั้น ล้วนผ่านปัญหา ความขัดแย้ง การกดขี่ สงคราม การแสดงหาอำนาจ การแสวงหาแนวทางที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เป็นวัฏจักรอยู่ เช่นนี้เสมอ ปัญหาต่าง ๆ ในแต่ละประเทศจึงกลายเป็นปัญหาร่วมกันของสังคมโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านสังคม เศรษฐกิจหรือปัญหาทางการเมือง มนุษย์ในฐานะสมาชิกของสังคมโลกจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจปัญหาเพื่อหา ทางแก้ไขร่วมกัน การศึกษาถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาที่สังคมโลกได้ปฏิบัติมาแล้วจึงเป็นแนว ทางที่จะรับมือกับปัญหาที่จะเกิดในอนาคตได้ หรืออย่างน้อยก็จะช่วยบรรเทาหรือลดความรุนแรงลงได้ ปัจจุบันปัญหาของโลกมีมากมายจึงขอแยกกล่าวเป็นด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจและด้านการเมือง ดังนี้ 

ปัญหาและการแก้ไขปัญหาสังคมของโลก

                ในสังคมมนุษย์ที่ประกอบด้วยประชาชนที่มีเชื้อสายเดียวกัน มีภาษาและศาสนาเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันก็จะทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันเป็นพวกเดียวกันสามารถเข้าใจซึ่งกันและกันได้ง่าย แต่ในสังคมที่ประชาชนมีเชื้อสาย ภาษา และศาสนาต่างกัน ก็จะนำไปสู่การเกิดปัญหาได้ง่าย ปัญหาทางสังคมของโลกมีหลายประการ ส่วนใหญ่เป็นปัญหาอันเนื่องมาจากมนุษย์ที่สำคัญมีดังนี้
  
              1. ปัญหาการเพิ่มประชากรและการขาดแคลนอาหาร
1.1     สาเหตุของปัญหา  ปัจจุบันประชากรโลกได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือมนุษย์ใช้เวลานับพันปีกว่าจะเพิ่มประชากรได้เป็น 1 พันล้านคน ในกลางศตวรรษที่ 19 แต่ในช่วงเวลาไม่ถึง 100 ปี มีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 2 พันล้านคนและประมาณ 30 ปีต่อมากลับมีประชากรโลกเพิ่มขึ้นเป็น 3 พันล้านคน จนถึงทศวรรษที่ 1970 ประชากรเพิ่มเป็น 4 พันล้านคน ใน ค.. 1990 เพิ่มเป็น 5 พันล้านคน ใน ค.. 2002 ประชากรโลกได้เพิ่มขึ้นเป็น 6 พันล้านคนและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จากสถิติที่กล่าวมา แสดงให้เห็นว่าประชากรมีอัตราเพิ่มมากขึ้น อัตราการเพิ่มของประชากรทั่วโลกนั้น พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในประเทศด้อยพัฒนา ได้แก่กลุ่มแอฟริกาละตินอเมริกา และเอเชีย ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาอีกมาก เช่น ปัญหาการขาดแคลนอาหาร ปัญหาการแบ่งปันทรัพยากร ปัญหาที่อยู่อาศัย ปัญหาการศึกษา ปัญหาการจัดการในเรื่องสาธารณูปโภค เป็นต้น จนอาจจะกล่าวได้ว่าปัญหาสังคมส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มประชากรที่รวดเร็วเกินไปนั่นเอง
1.2     แนวทางแก้ปัญหา  ยึดหลักการควบคุม ตามธรรมชาติ ธรรมชาติจะควบคุมความสมดุลอยู่แล้ว เช่น โรคร้าย สงคราม ทุพภิกขภัย ตลอดจน ภัยธรรมชาติอื่น ๆ ทำให้มนุษย์ลดจำนวนลงอีกอย่างหนึ่ง คือเลื่อนการแต่งงานออกไปจนกว่า จะมีความพร้อมก็เป็นอีกทางหนึ่งในการลดจำนวนประชากรลงได้ องค์การสหประชาชาติ องค์กรชำนัญพิเศษ แห่งสหประชาชาติ และหลายประเทศได้ดำเนินการหลายวิธี ดังนี้
1.2.1       การรณรงค์เพื่อวางแผนครอบครัว (Family Planning) หลายประเทศได้ถือเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาล เพื่อลดอัตราการเพิ่มของประชากรลง ทั้งองค์การสหประชาชาติและรัฐบาลของหลายประเทศได้รณรงค์ในเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยชี้แจงความจำเป็นและความสำคัญของการวางแผนครอบครัว และวิธีการที่ถูกต้อง โดยมีกองทุนขององค์การสหประชาชาติ และมีกองทุนของแต่ละประเทศให้การสนับสนุน
1.2.2      การให้การศึกษา มีขอบข่ายการให้การศึกษาแก่ประชาชน การกำหนดหลักสูตรการศึกษาเรื่องประชากร ทั้งในระดับชั้นประถม มัธยม และอุดมศึกษา ทำเอกสารแจกประชาชนให้ทราบถึงปัญหาการมีลูกมากทั้งในระดับครอบครัว ปัญหาระดับชาติ และปัญหาระดับโลก
1.2.3      การนำเทคโนโลยีเข้ามาผลิต ทั้งเครื่องอุปโภค เครื่องบริโภค ให้เพียงพอต่อการเพิ่มของประชากร เช่นการเพิ่มปริมาณ การคัดเลือกสายพันธุ์พืช และสัตว์อย่างเหมาะสม การเพาะปลูกตามหลักวิชาการ
1.2.4      การใช้มาตรการทางกฎหมาย หลายประเทศได้ตรากฎหมายที่จะควบคุมการเพิ่มของประชากรไว้อย่างชัดเจน เช่น กำหนดให้มีลูกได้ไม่เกิน 1 คน หรือ 2 คน หากไม่ปฏิบัติตามจะมีการตัดสิทธิบางประการ หรือถูกปรับหรือต้องเสียภาษีสูงกว่าธรรมดา ในขณะเดียวกันก็มีกฎหมายที่ชักจูงให้มีการวางแผนครอบครัว เช่น การช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่บุตรของครอบครัวที่ปฏิบัติตามนโยบาย
ส่วนแนวทางแก้ไขนั้น องค์การสหประชาชาติเสนอให้เติมสารอาหาร เช่น ไอโอดีนลงในเกลือ เติมวิตามินเอในนม เติมธาตุเหล็กในแป้ง ทั้งยังเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ หามาตรการเพิ่มสารอาหารลงในอาหารที่ประชาชนไม่สามารถทำเองได้ เช่น ซอสถั่วเหลือง น้ำมันพืช เป็นต้น
แนวทางดังกล่าวนี้ องค์การสหประชาชาติได้รณรงค์ให้มีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเน้นหนักในเรื่องของการวางแผนครอบครัวเพื่อลดการเพิ่มของประชากร  การให้ความรู้ในการเพิ่มผลผลิต การขยายพื้นที่การเพาะปลูก การคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีเพื่อการเพิ่มปริมาณอาหารให้มากขึ้น

2. ปัญหาสิ่งแวดล้อม
ในอดีตปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่รุนแรงนัก เพราะประชากรโลกมีน้อยและมนุษย์มีความเป็นอยู่อย่างง่าย ๆ การทำลายระบบนิเวศ การทำลายระบบสมดุลของธรรมชาติ จึงมีน้อย แต่เมื่อประชากรโลกมากขึ้น ความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์มีมากขึ้น มนุษย์ได้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ เช่น เครื่องจักร เครื่องยนต์ เพื่อความสะดวกสบาย รวมทั้งการผลิตสารบางชนิดเพื่อการเกษตรอุตสาหกรรมการกระทำของมนุษย์ได้ไปทำลายระบบนิเวศ ทำลายความสมดุลของธรรมชาติ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษได้เพิ่มมากขึ้นทุกที จนเป็นอันตรายต่อมนุษย์ ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นปัญหาร่วมกันของมนุษยชาติ ลมฟ้าอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลง ย่อมชี้ให้เห็นผลกระทบจากระบบนิเวศ ดิน ป่าไม้ ทุ่งหญ้า แหล่งน้ำ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดวงจรต่าง ๆ เช่น วงจนโซ่แห่งอาหาร (Food Chains) อย่างได้สัดส่วนและมีผลต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ หากระบบต่าง ๆ ถูกทำลาย ความสมดุลก็จะเสียไป นั่นหมายถึงวิถีชีวิตของมนุษย์ก็จะต้องเปลี่ยนไปในทางเลวร้ายยิ่งขึ้น
                2.1 สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม
  
                              2.1.1 การทำลายสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ที่สำคัญ คือ การตัดไม้ทำลายป่า อันเป็นผลมาจากความต้องการขยายที่ทำกิน ขยายที่อยู่อาศัย และเพื่อการนำไม้ไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต และใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่ามากขึ้นทุกที ทั้งที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งไม่น่าเป็นห่วงมากนัก แต่ที่อันตรายมาก คือ การตัดไม้ทำลายป่ามากขึ้นทุกที ทั้งที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งมีมากในประเทศด้อยพัฒนา ดังเช่น ในทวีปแอฟริกาและละตินอเมริกา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ ประเทศไทย ในอดีตเป็นประเทศที่มีป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร เป็นแหล่งอาหารที่ไม่เพียงเพื่อการบริโภคในประเทศเท่านั้น ยังเป็นอู่ข้าวอู่น้ำส่งออกเลี้ยงประชากรโลกในภูมิภาคอื่นด้วย ปัจจุบันป่าที่อุดมสมบูรณ์ เช่น ป่าสาละวิน ป่าทุ่งใหญ่ นเรศวร ป่าเขาใหญ่ ป่าดงลาน ได้ถูกทำลายด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของมนุษย์และทั้งด้วยความเห็นแก่ได้ของขบวนการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้แหล่งต้นน้ำถูกทำลาย แม่น้ำ ลำธารหลายสายเริ่มตื้นเขิน ส่งผลให้แหล่งอาหารลดน้อยลง เกิดภาวะแห้งแล้ง ฝนฟ้าเริ่มปรวนแปร การเกษตรเริ่มมีปัญหา ทำให้การส่งออกผลิตผลทางการเกษตรไม่ขยายตัว นอกจากนั้นสภาพการซึมซับมลพิษทางอากาศก็ลดศักยภาพลงด้วย สภาพปัญหาดังกล่าวได้เกิดขึ้นในหลายประเทศ นอกจากการตัดไม้ทำลายป่าแล้ว ปัญหาการทำลายระบบนิเวศก็เกิดขึ้นทั่วไป เช่น การทำลายสภาพป่าชายเลน การทำลายระบบนิเวศในทะเลและมหาสมุทร ตลอดจนการบุกรุกแหล่งน้ำธรรมชาติ
  
                              2.1.2 การคิดประดิษฐ์และผลิตสิ่งที่ก่อมลพิษ จากการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการผลิตของสังคมโลกยุคใหม่ ทำให้เครื่องยนต์เข้ามามีบทบาทมาก มีการนำสารสังเคราะห์ชนิดต่าง ๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตก่อให้เกิดมลพิษทั้งทางอากาศ ทางน้ำ และในดิน มากขึ้นทุกที จนกระทั่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์และพืช

                                2.1.3 การขาดสำนึกของมนุษย์ หรืออาจเรียกว่าเป็นความมักง่ายของมนุษย์ที่ทำความสกปรกให้แก่ธรรมชาติ เช่น ทิ้งสิ่งของที่ย่อยสลายได้ยากลงในแม่น้ำ และพื้นดิน

2.2    ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ

2.2.1      ปัญหามลพิษทางอากาศ อากาศบริสุทธิ์เป็นสิ่งจำเป็นของมนุษย์แต่ในปัจจุบันนี้ประชากรหนาแน่น เกิดโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้นมียานยนต์มากขึ้น ควันหมอก เขม่า จึงมากขึ้นด้วย กลายเป็นพิษที่ทำลายสุขภาพอนามัยของประชากรโลก สารพิษที่สำคัญ มีซัลเฟอร์ไดออกไซค์ คาร์บอนมอนนอกไซค์ คาร์บอนไดออกไซด์ ออกไซด์ ของไนโตรเจน สารไฮโดรคารบอนต่าง ๆ รวมทั้งอนุภาคบางชนิด และไอของตะกั่วซึ่งเป็นสารที่ทำอันตรายต่อมนุษย์ สารบางชนิดอาจทำให้ทารกในครรภ์ผิดปกติได้ อันตรายจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความต้องการความเข้มของก๊าซหรือสารอันตรายนั้น อย่างไรก็ตาม ก๊าซพิษ และสารพิษที่อยู่ในอากาศได้ก่อให้เกิดอันตรายแก่มนุษย์และสัตว์ ก๊าซบางชนิดทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย สุขภาพเสื่อมโทรม และหากสูดดมในปริมาณมากอาจถึงตายได้ บางชนิดทำลายเยื่อจมูก และหลอดลมขัดขวางการรับออกซิเจนในเม็ดเลือด ทำให้เป็นโรคปอดได้ ก๊าซบางชนิดทำให้เกิดการระคายเคืองตา คันตามผิวหนัง หรืออาจทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ อนุภาคในอากาศของสารหลายชนิดเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ เช่น กรดกำมะถัน ปริมาณเพียง 1 มิลลิกรัมต่ออากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร จะสามารถทำให้ระบบหายใจผิดปกติได้ กรดอาร์ซีนิก และสารตะกั่วจากท่อไอเสียรถยนต์ก็ทำอันตรายต่อมนุษย์ ถ้ามนุษย์ได้รับติดต่อกันวันละ 8 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 5 วัน จะสามารถทำลายสมองเกิดการเสื่อมสลายของเส้นโลหิตฝอย โรคสมองที่เกิดจากพิษสารตะกั่วทำให้เกิดการตกเลือดในสมอง ปวดศีรษะ จนอาจเป็นอัมพาตได้ และพบว่ายังมีผลต่อความเสื่อมของเซลล์สืบพันธุ์ของมนุษย์ได้ นอกจากนั้นสารตะกั่วยังเป็นอันตรายร้ายแรงต่อการเจริญเติบโตของเด็กอีกด้วย (มนัส  ธัญญเกษตรและคณะ. 2542 :  148-149)

                  สารที่มนุษย์เริ่มตระหนักในพิษภัยอีกชนิดหนึ่ง คือ สารคลอโรฟลูโอคาร์บอน (Chlorofluocarbon) หรือสาร CFC จะลอยขึ้นไปทำลายก๊าซโอโซนในบรรยากาศ ทำให้เกิดช่องโหว่ที่แสงอัลตราไวโอเลต (Ultra Violet) จากดวงอาทิตย์ สามารถส่องตรงมายังผิวโลกได้โดยตรง ยิ่งมีควันจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นผสมสำคัญร่วมด้วย ก็จะทำให้ภาวะเรือนกระจกรุนแรงมากขึ้น จากการสำรวจของนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยอลาสกา พบว่าภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า กรีนแลนด์ ไอซ์กำลังละลายอย่างรวดเร็วเกินความคาดหมาย ความสูงของภูเขาน้ำแข็งลดลงเฉลี่ยปีละหนึ่งฟุตครึ่ง และเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลต้นทศวรรษ 1990 ทำให้ทีมนักสำรวจต้องตะลึง เมื่อพบว่าภูเขาน้ำแข็งละลายจนบางลงเป็นสองเท่า เมื่อเปรียบเทียบกับ 40 ปีก่อน สาเหตุที่ทำให้ภูเขาน้ำแข็งในอลาสกาละลายอย่างรวดเร็วนี้ น่าจะเป็นผลมาจากภาวะเรือนกระจก เนื่องจากชาวโลกพากันปล่อยก๊าซพิษขึ้นสู่บรรยากาศทำให้โลกร้อนขึ้น นอกจากนี้การนำเอาพลังงานนิวเคลียร์เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้าก็ทำให้เกิดโศกนาฎกรรมครั้งใหญ่มาแล้ว เมื่อมีการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพ

                                              2.2.2 ปัญหามลพิษทางน้ำ น้ำในแม่น้ำลำคลองในปัจจุบันมีแนวโน้มจะเน่าเสียมากขึ้น เพราะได้รับขยะ สารเคมี ปุ๋ย ซากเปื่อยเน่า และน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ปัญหานี้เกิดขึ้นเกือบทุกภูมิภาคของโลก ยิ่งอยู่ใกล้เมืองยิ่งมีปัญหารุนแรงขึ้น เช่น ในญี่ปุ่นโรงงานเคมีใหญ่แห่งหนึ่งถูกศาลตัดสินให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ประชาชนถึง 70 ล้านบาท ในฐานะที่ปล่อยสารปรอทลงในทะเลจนเข้าไปสะสมในปลา เมื่อคนบริโภคปลาทำให้เกิดการเจ็บป่วยและถึงตายได้หากปริมาณสารพิษสะสมมากพอ ญี่ปุ่นเรียกโรคนี้ว่า มินามาตะตามชื่ออ่าวที่เป็นที่ตั้งโรงงาน

                   นำมันก็เป็นสารอีกอย่างหนึ่งที่เป็นตัวการทำให้น้ำสกปรกและเป็นพิษ ในแต่ละปีจะมีน้ำไหลลงทะเลหลายล้านตัน รั่วไหลจากเรือบรรทุกน้ำมันบ้าง จากการทิ้งน้ำมันเครื่องลงน้ำบ้าง จากอุบัติเหตุบ้าง น้ำมันเหล่านี้จะลอยอยู่บนผิวน้ำต้องใช้เวลานานมากจึงจะย่อยสลาย ทำให้การระเหยของน้ำลดน้อยลง ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนลดน้อยลงด้วย คราบน้ำมันยังเป็นฉนวนกันแสงแดด และออกซิเจนทำให้เป็นอันตรายต่อชีวิตพืชและสัตว์น้ำ และน้ำมันยังเป็นพิษโดยตรงต่อพืชและสัตว์ที่เป็นอาหารของปลา เมื่ออาหารถูกทำลาย ปลาก็จะลดน้อยลง และอาจจะสะสมสารพิษที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้ นอกจากนี้ น้ำที่ปนสารพิษยังสามารถทำอันตรายต่อมนุษย์โดยตรงทำให้เกิดโรคผิวหนัง สารพิษบางชนิดทำให้เกิดแผลเน่าเปื่อย นอกจากนี้ยังมีสภาพมลพิษในสิ่งแวดล้อมอีกมาก เช่น มลพิษของดินอันเกิดจากสารเคมี ตะกอนเกลือ หรือซากสัตว์ที่เป็นโรคระบาด หรือมลพิษทางเสียง จากการทำงานของเครื่องจักร เครื่องยนต์ เป็นต้น แต่มลพิษในสิ่งแวดล้อมดังกล่าวยังไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับสภาพอากาศเป็นพิษและน้ำมันเป็นพิษ

                   2.3  แนวทางแก้ปัญหาสภาพแวดล้อม
2.3.1 การพัฒนาคน การพัฒนาคนหมายถึงการให้ความรู้ความเข้าใจ และสร้างจิตสำนึกร่วมกันของมนุษย์ในสังคมโลก โดยการจัดเป็นหลักสูตรการเรียนทั้งในระดับการศึกษาขึ้นพื้นฐานและอุดมศึกษารวมทั้งเผยแพร่ความรู้ทางสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือเอกสาร เพื่อให้เล็งเห็นความสำคัญของสภาพแวดล้อมนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของมนุษยชาติ ทุกประเทศจะต้องร่วมมือกันป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาและช่วยกันแก้ปัญหา
2.3.2 การ ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ ในเรื่องนี้องค์การสหประชาชาติได้จัดการประชุมเพื่อระดมความร่วมมือในการแก้ ปัญหาหลายครั้งโดยการจัดตั้งองค์กรความร่วมมือระหว่างชาติขึ้น ดูแลในเรื่องสภาพแวดล้อมคือ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Program : UNEP) ผลจากการรณรงค์และการทำงานขององค์การสหประชาชาติ และจากแต่ละประเทศ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า กลุ่มกรีนพืช (Green Peace) ออกปฏิบัติการต่อด้านพฤติกรรมที่ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมเป็นพิษ

2.3.3 การใช้มาตรการบังคับ ในหลายประเทศได้มีการออกกฎหมายควบคุมการถ่ายเทน้ำเสียในโรงงานอุตสาหกรรม กฎหมายบังคับให้โรงงานอุตสาหกรรม ต้องสร้างปล่อยควันให้สูง เพื่อไม่ให้ควัน และสารพิษทำอันตรายต่อมนุษย์ได้ ตลอดจนการออกกฎหมายควบคุมควันดำจากท่อไอเสียรถยนต์ นอกจากการควบคุมที่ใช้มาตรการทางกฎหมายแล้ว ในหลายประเทศได้จัดระบบเฉพาะเกิดขึ้นควบคุมสภาพแวดล้อมด้วย เช่น การห้ามรถยนต์บางชนิดวิ่งในถนนบางสาย หรือการกำหนดปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซค์ในอากาศไม่ให้สูงเกินมาตรฐานกำหนด
   
                ถึงแม้การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันได้วางเครือข่ายอย่างกว้างขวางก็ตาม หากประเทศใดละเลยก็จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เช่น กรณีคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปฟ้องดำเนินคดีกับอังกฤษ กรีซ และอิตาลี ทั้ง 3 ชาติว่าไม่ปฏิบัติตามกฎหมายยุโรปโดยปล่อยให้เกิดระดับเสียงดังเกินมาตรฐานและก่อให้เกิดมลพิษในอากาศ ซึ่งกฎหมายนี้บังคับใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2001 แต่ทั้ง 3 การฟ้อง ทั้ง 3 ประเทศนี้ ในคดีอื่นๆ พร้อมกับประเทศไอร์แลนด์ และสเปน กรณีที่ไม่บังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการรักษาคุณภาพอากาศอีกด้วย

2.3.4 การฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ในปัจจุบันประเทศต่างๆ ได้จัดงบประมาณเพื่อการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมให้คืนสู่สภาพปกติเป็นเงิน โดยรวมนับหลายหมื่นล้านเหรียญ เช่น การเพิ่มก๊าซออกซิเจนในน้ำ การลงทุนในปฏิบัติการฟอกอากาศในโรงงาน

2.3.5 การจัดวางผังเมือง หลายประเทศตื่นตัวมากขึ้น เริ่มมีการกำหนดพื้นที่ ให้เป็นสัดส่วนตามหลักวิชาการ โดยการกำหนดว่าที่ใดเป็นเขตที่อยู่อาศัย พื้นที่ใดเป็นเขตอุตสาหกรรม เพื่อไม่ให้มลพิษทำลายสุขภาพอนามัยของประชาชน อย่างไรก็ตาม การแก้ไขตามแนวทางที่กล่าวมานั้นจะไม่ได้ผลหากไม่ได้รับความร่วมมือจากประชากรของทุกประเทศในสังคมโลก โดยเฉพาะในเรื่องจิตสำนึกร่วมกันที่จะอนุรักษ์สภาพแวดล้อม แม้กระทั่ง นายจอร์จ บุช อดีตประธานาธิบดี ของสหรัฐอเมริกายังให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยได้ประกาศให้เป็น 1 ใน 4 ของการจัดระเบียบโลกใหม่ 
          
                 3. ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน

                   สิทธิมนุษยชนหมายความว่า คนทุกคนมีสิทธิในการดำรงชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งตัวตน บุคคลจะถูกยึดเป็นทาสหรือต้องอยู่ในภาวะจำยอมไม่ได้ ทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมาย บุคคลจะถูกจับกุมคุมขังกักขัง หรือเนรเทศไปต่างถิ่นโดยพลการไม่ได้ ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดทางอาญามีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่า มีความผิดตามกฎหมาย ทุกคนมีอิสรภาพแห่งการเคลื่อนไหว และสถานที่อยู่ภายในเขตของแต่ละรัฐ ทุกคนมีสิทธิในการศึกษา รัฐจะต้องจัดการศึกษาให้เปล่าแก่ประชาชนอย่างน้อยในการศึกษาระดับประถมศึกษา (เสน่ห์ จามริก.2542 : 271 – 274)

                   สหประชาชาติ ได้ประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Universal Declaration of Human Rights) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.. 1948 นับเป็นผลงานชิ้นแรกที่ทั่วโลกรู้จักดีและยอมรับอย่างกว้างขวาง ซึ่งมีหลักการว่ามนุษย์ทั้งหลาย เกิดมามีอิสระ และเสมอภาคกัน ในเกียรติศักดิ์และสิทธิต่างมีเหตุผล และมโนธรรม ควรปฏิบัติต่อกันด้วยเจตนารมณ์แห่งภราดรภาพ ทุกคนย่อมมีสิทธิ์และอิสรภาพ บรรดาที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้ ได้ปราศจากความแตกต่าง ไม่ว่าเชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา เผ่าพันธุ์ ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่นๆ ตลอดจนความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
  
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

                โดยที่การยอมรับนับถือเกียรติศักดิ์ประจำตัว สิทธิเท่าเทียมกัน และโอนมิได้ของบรรดาสมาชิกทั้งหลาย แห่งครอบครัวมนุษย์เป็นหลักมูลเหตุแห่งอิสรภาพ ความยุติธรรม และสันติภาพในโลก

               โดยที่การไม่นำพาและการเหยียดหยามต่อสิทธิมนุษยชน ยังผลให้มีการกระทำอันป่าเถื่อน ซึ่งเป็นการละเมิดมโนธรรมของมนุษยชาติอย่างร้ายแรงและได้มีการประกาศว่า ปณิธานสูงสุดของสามัญชน ได้แก่ ความต้องการให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ในโลกด้วยอิสรภาพในการพูด ความเชื่อถือและอิสรภาพพ้นจากความหวาดกลัว และความต้องการ
                โดยที่เป็นการจำเป็นอย่างยิ่งที่สิทธิมนุษยชนควรได้รับความคุ้มครอง โดยหลักบังคับของกฎหมาย ถ้าไม่ประสงค์จะให้คนตกอยู่ในบังคับให้หันเข้าหาการขบถขัดขืนต่อทรราชและการกดขี่เป็นวิถีทางสุดท้าย
                โดยที่เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะส่งเสริมวิวัฒนาการแห่งสัมพันธไมตรีระหว่างนานาชาติ
                โดยที่ประชากรแห่งสหประชาชาติได้ยืนยันไว้ในกฎบัตรถึงความ เชื่อมั่นในสิทธิมนุษยชนอันเป็นหลักมูล ในเกียรติศักดิ์และคุณค่าของมนุษย์ และในสิทธิเท่าเทียมกันของบรรดาชายและหญิงและได้ตกลงใจที่จะส่งเสริมความ ก้าวหน้าทางสังคมและมาตรฐานแห่งชีวิตที่ดีขึ้นด้วยในอิสรภาพอันกว้างขวาง ยิ่งขึ้น

                โดยที่รัฐสมาชิกต่างปฏิญญาจะให้บรรลุถึงซึ่งการส่งเสริม การเคารพ และการปฏิบัติตามทั่วสากล ต่อสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพหลักมูล โดยร่วมมือกับสหประชาชาติ

                โดยที่ความเข้าใจร่วมกันในสิทธิ และอิสรภาพเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้ปฏิญญานี้สำเร็จผลเต็มบริบูรณ์
                ฉะนั้น บัดนี้ สมัชชาสหประชาชาติ จึงประกาศว่า

                ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนี้ เป็นมาตรฐานร่วมกันแห่งความสำเร็จสำหรับบรรดาประชากรและประชาชาติทั้งหลาย เพื่อจุดหมายปลายทางที่ว่า เอกชนทุกคนและองค์การของสังคมทุกองค์การ โดยการรำลึกถึงปฏิญญานี้เป็นเนืองนิตย์ จะบากบั่นพยายามด้วยการสอนและศึกษาในอันที่จะส่งเสริมการเคารพสิทธิและอิสรภาพเหล่านี้ และด้วยมาตรการอันก้าวหน้าทั้งในและระหว่างประเทศ ในอันที่จะให้มีการยอมรับนับถือ และการปฏิบัติตามโดยสากลและอย่างเป็นผลจริงจังทั้งในบรรดาประชาชนและของรัฐสมาชิกด้วยกันเอง และในบรรดาประชาชนของดินแดนที่อยู่ใต้อำนาจของรัฐนั้น ๆ
                ข้อ 1 มนุษย์ทั้งหลายเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในเกียรติศักดิ์และสิทธิ ต่างมีเหตุผลและมโนธรรมและควรปฏิบัติต่อกันด้วยเจตนารมณ์แห่งภราดรภาพ
                ข้อ 2       (1) ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพบรรดาที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากความแตกต่างไม่ว่าชนิดใด ๆ ดังเช่น เชื้อชาติ ผิวเพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง หรือทางอื่น เผ่าพันธุ์แห่งชาติ หรือสังคม ทรัพย์สิน กำเนิดหรือสถานะอื่นๆ
                                (2) อนึ่งจะไม่มีความแตกต่างใด ๆ ตามมูลฐานแห่งสถานะทางการเมือง ทางการศาลหรือทางการระหว่างประเทศของประเทศหรือดินแดนที่บุคคลสังกัด ไม่ว่าดินแดนนี้จะเป็นเอกราชอยู่ในความพิทักษ์มิได้ปกครองตนเอง หรืออยู่ภายใต้การจำกัดอธิปไตยใด ๆ ทั้งสิ้น
                ข้อ คนทุกคนมีสิทธิ์ในการดำรงชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งตัวตน
                ข้อ บุคคลใด ๆ จะถูกยึดเป็นทาส หรือต้องภาระจำยอมไม่ได้ ความเป็นทาส และการค้าทาสเป็นห้ามขาดทุกรูป
                ข้อ บุคคลใด ๆ จะถูกทรมานหรือได้รับผลปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายผิดมนุษยธรรมหรือต่ำช้าไม่ได้
                ข้อ ทุกคนมีสิทธิ์จะได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายทุกแห่งหน
                ข้อ ทุกคนเสมอกันตามกฎหมายและมีสิทธิ์ที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ๆ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันจากการเลือกปฏิบัติใด ๆ อันเป็นการล่วงละเมิดปฏิญญา และจากการยุยงให้เกิดการเลือกปฏิบัติดังกล่าว
                ข้อ ทุกคนมีสิทธิ์จะได้รับบำบัดอันเป็นผลจริงจัง จากศาลที่มีอำนาจแห่งชาติ ต่อการกระทำอันละเมิดสิทธิหลักมูล ซึ่งตนได้รับตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
                ข้อ บุคคลใดมีสิทธิโดยเสมอภาคเต็มที่ในอันที่จะได้รับการพิจารณาที่เป็นธรรม และเปิดเผยจากศาลที่อิสระและเที่ยงธรรมในการกำหนดสิทธิและหน้าที่ของตน และการกระทำผิดอาชญาใดๆ ที่ตนถูกกล่าวหา
                ข้อ 10 ทุกคนมีสิทธิโดยเสมอภาคเต็มที่ในอันที่จะได้รับการพิจารณาที่เป็นธรรม และเปิดเผยจากศาลที่อิสระและเที่ยงธรรมในการกำหนดสิทธิและหน้าที่ของตน และการกระทำผิดอาชญาใด ๆ ที่ตนถูกกล่าวหา
                ข้อ 11     (1) ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาชญา มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีผิดกฎหมายในการพิจารณาเปิดเผย ซึ่งตนได้รับหลักประกันบรรดาที่จำเป็นสำหรับการต่อสู้คดี
                                (2)  จะถือบุคคลใด ๆ ว่ามีความผิดทางอาชญาเนื่องด้วยการกระทำหรือละเว้นใดๆ อันมิได้จัดเป็นความผิดทางอาชญาตามกฎหมายแห่งชาติหรือกฎหมายต่างประเทศ ในขณะได้กระทำการนั้นขึ้นมาได้ และจะลงโทษอันหนักกว่าที่ใช้อยู่ในขณะที่ได้กระทำความผิดทางอาชญานั้นไม่ได้
                ข้อ 12 บุคคลใด ๆ จะถูกแทรกสอดโดยพลการในความเป็นอยู่ส่วนตัวในครอบครัวในเคหสถานหรือในการสื่อสาร หรือจะถูกลบหลู่ในเกียรติยศและชื่อเสียงไม่ได้ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายต่อการแทรกสอด หรือการลบหลู่ดังกล่าวนั้น
                ข้อ 13     (1) ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการเคลื่อนไหว และสถานที่อยู่ภายในเขตของแต่ละรัฐ
                                (2) ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะออกจากประเทศใด ๆ ไปรวมทั้งประเทศของตนเองด้วย และที่จะกลับยังประเทศตน
                ข้อ 14     (1) ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะแสวงหา และที่จะได้อาศัยพำนักในประเทศอื่นเพื่อลี้ภัยจากการประหัตประหาร
                                (2) จะอ้างสิทธินี้ไม่ได้ ในกรณีที่การดำเนินคดีสืบเนื่องอย่างแท้จริงมาจาก ความผิดที่ไม่ใช่ทางการเมือง หรือจากการกระทำอันขัดต่อวัตถุประสงค์และหลักการของสหประชาชาติ
                ข้อ 15     (1) ทุกคนมีสิทธิ์ในการถือสัญชาติหนึ่ง
                                (2) บุคคลใด ๆ จะถูกตัดสัญชาติของตนโดยพลการ หรือถูกปฏิเสธที่จะเปลี่ยนสัญชาติไม่ได้
                ข้อ 16     (1) ชายและหญิงที่มีอายุเต็มบริบูรณ์แล้ว มีสิทธิ์ที่จะทำการสมรสและจะก่อตั้งครอบครัวโดยปราศจากการจำกัดใด ๆ อันเนื่องจากเชื้อชาติสัญชาติ หรือศาสนา ต่างมีสิทธิเท่าเทียมกันในการสมรส ระหว่างการสมรสและในการขาดจากการสมรส
                                (2) การสมรสจะกระทำกันก็แต่ด้วยความยินยอมโดยอิสระ และเต็มที่ของผู้ที่เจตนาจะเป็นคู่สมรส
(3)    ครอบครัวเป็นหน่วยธรรมชาติ และหลักมูลของสังคม และมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองจากสังคมและรัฐ
ข้อ 17     (1) ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยลำพังตนเอง เช่นเดียวกับโดยร่วมกับ ผู้อื่น
                (2) บุคคลใด ๆ จะถูกริบทรัพย์สินโดยพลการไม่ได้
ข้อ 18     ทุกคนมีสิทธิ์ในอิสรภาพแห่งความคิดมโนธรรมและศาสนา สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการเปลี่ยนศาสนาหรือความเชื่อถือ และอิสรภาพในการที่จะประกาศ ศาสนาหรือความเชื่อถือของตนโดยการสอนการปฏิบัติ การสักการบูชาและการประกอบพิธีกรรม ไม่ว่าจะโดยลำพังตนเองหรือในประชาคมร่วมกับผู้อื่น และเป็นการสาธารณะหรือส่วนบุคคล
ข้อ 19     ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกสอด และที่จะแสวงหา รับและแจกจ่ายข่าวสารและความคิดเห็นไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ และโดยไม่คำนึงถึงเขตแดน
ข้อ 20     (1) ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการร่วมประชุมและการตั้งสมาคมโดยสันติ
                (2) บุคคลใด ๆ จะถูกบังคับให้สังกัดสมาคมหนี่งสมาคมใดไม่ได้
ข้อ 21     (1) ทุกคนมีสิทธิที่จะมีส่วนในรัฐบาลของประเทศตน จะเป็นโดยตรงหรือโดยผ่านทางผู้แทนซึ่งได้เลือกตั้งโดยอิสระ
                (2) ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงบริการสาธารณะในประเทศของตนโดยเสมอภาค
                (3) เจตจำนงของประชาชนจะต้องเป็นมูลฐานแห่งอำนาจของรัฐบาล เจตจำนงนี้จะต้องแสดงออกทางการเลือกตั้งตามกำหนดเวลา และอย่างแท้จริง ซึ่งอาศัยการออกเสียงโดยทั่วไปและเสมอภาค และการลงคะแนนลับ หรือวิธีการลงคะแนนโดยอิสระอย่างอื่นทำนองเดียวกัน
ข้อ 22     ทุกคนในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม มีสิทธิในความมั่นคงทางสังคม และมีสิทธิ์ในการบรรลุ ถึงซึ่งสิทธิทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางวัฒนธรรม อันจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเกียรติศักดิ์ของตนและการพัฒนาบุคลิกภาพของตนอย่างอิสระ ทั้งนี้ โดยความเพียรพยายามแห่งชาติ และโดยความร่วมมือระหว่างประเทศ และตามระบอบการและทรัพยากรของแต่ละรัฐ
ข้อ 23     (1) ทุกคนมีสิทธิ์ในการงาน ในการเลือกงานโดยอิสระในเงื่อนไขอันยุติธรรม และเป็นประโยชน์แห่งการงาน และในการคุ้มครองต่อการว่างงาน
                (2) ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับเงินค่าจ้างเท่าเทียมกันสำหรับงานเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ๆ
                (3) ทุกคนที่ทำงานมีอิสระที่จะได้รับสินจ้างที่ยุติธรรมและเป็นประโยชน์ ที่จะให้ประกันแก่ตนเองและครอบครัวแห่งตน ซึ่งความเป็นอยู่อันคู่ควรแก่เกียรติศักดิ์ของมนุษย์ และถ้าจำเป็นก็จะต้องได้รับวิถีทางคุ้มครองทางสังคมอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย
                (4) ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะจัดตั้ง และที่จะเข้าร่วมสหพันธ์กรรมการเพื่อความคุ้มครองแห่งประโยชน์ของตน
ข้อ 24     ในการพักผ่อนและเวลาว่าง รวมทั้งการจำกัดเวลาทำงานตามสมควรและวันหยุดงานเป็นครั้งคราวโดยได้รับสินจ้าง
ข้อ 25     (1) ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความเป็นอยู่ดีของตนและครอบครัว รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการดูแลรักษาทางแพทย์และบริการสังคมที่จำเป็นและมีสิทธิ์ในความมั่นคงยามว่างงาน เจ็บป่วย พิการ เป็นหม้าย วัยชรา หรือขาดอาชีพอื่นในพฤติกรรมที่นอกเหนืออำนาจของตน
                (2) มารดาและเด็กมีสิทธิ์ที่จะรับการดูแลรักษาแลการช่วยเหลือเป็นพิเศษ เด็กทั้งปวงไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกสมรส จะต้องได้รับการคุ้มครองทางสังคมเช่นเดียวกัน
ข้อ 26     (1) ทุกคนมีสิทธิในการศึกษา การศึกษาจะต้องให้เปล่าอย่างน้อยในชั้นประถมศึกษาและการศึกษาชั้นหลักมูลฐานการประถมศึกษาจะต้องเป็นการบังคับ การศึกษาทางเทคนิคและวิชาชีพจะต้องเป็นอันเปิดโดยทั่วไป และการศึกษาชั้นสูงขึ้นไปก็จะต้องเป็นอันเปิดสำหรับทุกคนเข้าได้ถึง โดยเสมอภาคตามมูลฐานแห่งคุณวุฒิ
                (2) การศึกษาจะได้จัดไปในทางพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์อย่างเต็มที่และเคารพต่อสิทธิมนุษยชน และอิสรภาพหลักมูลให้มั่นคงแข็งแรง จะต้องส่งเสริมความเข้าใจ ขันติธรรมยังความและมิตรภาพระหว่างบรรดาประชาชาติ กลุ่มเชื้อชาติหรือศาสนา และจะต้องส่งเสริมกิจกรรมของสหประชาชาติ เพื่อการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ
(3) บิดามารดามีสิทธิเบื้องแรกที่จะเลือกชนิดการศึกษา อันจะให้แก่บุคคลของตน
                ข้อ 27     (1) ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเข้าร่วมในชีวิตทางวัฒนธรรมของประชาคมโดยอิสระ ที่จะบันเทิงใจในศิลปะและที่จะมีส่วนในความรุดหน้า และมีคุณประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์
(2) ทุกคนมีสิทธิ์ที่ได้รับการคุ้มครองผลประโยชน์ทางศีลธรรม และทางวัตถุอันเป็นผลจากประดิษฐ์กรรมใด ๆ ทางวิทยาศาสตร์วรรณกรรมและศิลปกรรม ซึ่งตนเป็นผู้สร้าง
                ข้อ 28     ทุกคนมีสิทธิในระเบียบทางสังคมและระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นทางให้สำเร็จผลเต็มที่ตามสิทธิและอิสรภาพดังกำหนดไว้ในปฎิญญานี้
                ข้อ 29     (1) ทุกคนมีหน้าที่ต่อประชาคม ด้วยการพัฒนาบุคลิกภาพของตนโดยอิสระเต็มที่จะกระทำได้ก็แต่ในประชาคมเท่านั้น
                                (2) ในการใช้สิทธิและอิสรภาพแห่งตน ทุกคนตกอยู่ในบังคับของข้อจำกัด เพียงเท่าที่ได้กำหนดลงโทษกฎหมายเท่านั้น เพื่อประโยชน์ที่จะได้มาซึ่งการนับถือ และเคารพสิทธิและอิสรภาพของผู้อื่นตามสมควรและที่จะเผชิญกับความเรียกร้องต้องการอันเที่ยงธรรมของศีลธรรม ความสงสัยเรียบร้อยของประชาชน และสวัสดิการทั่วไปในสังคมประชาธิปไตย
                                (3) สิทธิและอิสรภาพเหล่านี้ จะใช้ขัดต่อวัตถุประสงค์และหลักการของสหประชาชาติไม่ได้ว่าในกรณีใด ๆ
                ข้อ 30     ไม่มีบทใด ในปฏิญญานี้ที่จะอนุมานว่าให้สิทธิใด ๆ แก่รัฐ หมู่คน หรือบุคคลในอันที่จะดำเนินกิจกรรมใด ๆ หรือปฏิบัติการใด ๆ อันมุ่งต่อการทำลายสิทธิและอิสรภาพ ดังกำหนดไว้ ณ ที่นี้

                3.1 การละเมิดสิทธิมนุษยชนในดินแดนต่าง ๆ

                                3.1.1  การละเมิดสิทธิมนุษยชนในยูโกสลาเวีย

                                เกิดจากการที่คนมุสลิมในบอสเนียประกาศแยกตัวเป็นอิสระจากประเทศยูโกสลาเวียในต้นทศวรรษที่ 1990 ทำให้รัฐบาลกลางที่เป็นชาวเซิร์บทำการปราบปรามอย่างโหดร้ายทารุณ มีการสังหารหมู่ประชาชน ระหว่าง ค.. 1991-1995 และประวัติศาสตร์มาซ้ำรอยอีกครั้งใน ค.. 1998-1999 เมื่อประชาชนชาวมุสลิมเชื้อสายแอลเบเนียในจังหวัดโคโซโวประกาศแยกตัวเป็นอิสระทำให้รัฐบาลยูโกสลาเวียที่นำโดยนายกรัฐมนตรี สโลโมดัน มิโบเซวิซ ได้ทำการปราบปรามอย่างรุนแรงอีกครั้งหนึ่งอันเรียกได้ว่าเป็นสงครามเผ่าพันธุ์ จนองค์การนาโตโดยข้อมติขององค์การสหประชาชาติ ต้องเข้ามาแทรกแซงท้ายที่สุด บอสเนีย ก็ได้แยกออกเป็นเอกราช

                               3.1.2 การละเมิดสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา
                                เหตุการณ์อันถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่รุนแรง คือ เหตุการณ์หลัง ค.. 1975 เมื่อเขมรแดง ซึ่งมี นายพอลพต เป็นผู้นำได้สั่งการให้มีการสังหารประชาชนจนกลายเป็น ทุ่งสังหาร” (Killin field) ชาวกัมพูชาต้องอพยพหนีอออกจากประเทศครั้งใหญ่ ภายหลังการสูญเสียอำนาจของนายพอลพตและเขมรแดง ใน ค.. 1978 หลักฐานการสังหารประชาชนจำนวนมากอย่างทารุณโหดร้ายได้ถูกนำมาแสดงให้ชาวโลกรู้ กล่าวกันว่ามีผู้ถูกสังหารในระหว่าง ค.. 1975-1978 ประมาณ 2 ล้านคน หลังจากนั้น 20 ปี คือใน ค.. 1998 ก็ได้มีกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หลังการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ค.. 1998 เมื่อพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ที่นายฮุนเซนเป็นผู้นำได้คะแนนเสียงในสภามากที่สุด พรรคฟุนซินเปคที่มีเจ้านโรดมรณฤทธิ์ได้เป็นลำดับสองและพรรคสมรังสีได้เป็นลำดับสาม พรรคสมรังสีได้ทำการประท้วง และกล่าวหาว่าการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม รัฐบาลใช้กำลังทหารเข้าสลายกลุ่มประชาชนอย่างรุนแรง และโหดร้ายจนเป็นภาพข่าวแพร่ทั่วโลก
  
                              3.1.3 การละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมาร์
                                เมียนมาร์ปกครองประเทศโดระบอบเผด็จการทหารนานกว่า 30 ปี จึงเกิดมีขบวนการต่อต้านขึ้นหลายกลุ่ม แต่ได้ถูกรัฐบาลทหารเมียมาร์ ที่เรียกว่า สล็อก” (The State Law and Order Restoration Council : SLORC) ปราบปรามอย่างรุนแรง ภายหลังเมื่อนางอองซานซูจีได้ เข้าร่วมต่อสู้ทำให้การต่อสู้เป็นเอกภาพและมีพลังมากขึ้น จนทำให้รัฐบาลสล็อกยอมให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ผลการเลือกตั้งพรรค NLD (National Leaque for Democracy) ที่มีนางอองซาน ซูจี เป็นผู้นำได้รับชัยชนะ ทำให้รัฐบาลสล็อกไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง จึงเกิดการต่อต้านและการจลาจลไปทั่วประเทศ รัฐบาลทหารได้ทำการปราบปรามอย่างรุนแรง และกักบริเวณนางอองซาน ซูจี เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งใหญ่ในประเทศเมียนมาร์จนทำให้ภาพพจน์ของรัฐบาลทหารเมียนมาร์ ไม่ดีในสายตาของชาวโลก
  
                              3.1.4 การละเมิดสิทธิมนุษยชนในติมอร์ตะวันออก
                                ติมอร์ตะวันออกเป็นเกาะ อยู่ทางเหนือของออสเตรเลียและเคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส ตั้งแต่ ค.. 1600 ต่อมาเนเธอร์แลนด์ เข้ายึดครองฝั่งตะวันตก ในขณะที่โปรตุเกสยึดครองฝั่งตะวันออก ใน ค.. 1974 ชาวติมอร์เรียกร้องเอกราช ทำให้โปรตุเกสต้องถอนตัวในปี ค.. 1975 พรรคเฟรติลิน (Fretilin) ภายใต้การนำของ นายซานานา กุสเมา ได้ประกาศเอกราชของติมอร์ตะวันออกพอถึงเดือนธันวาคม ค.. 1975 อินโดนีเซียก็เข้ายึดครองโดยอ้างว่า เป็นการเข้าปฏิบัติการกวาดล้างคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป้าหมายที่แท้จริง คือ การเข้ายึดครอง เพราะดินแดนแห่งนี้มีน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจำนวนมาก จากนั้นได้ผนวกติมอร์ตะวันออกให้เป็นจังหวัดที่ 27 ของอินโดนีเซีย ชาวติมอร์ได้เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเรียกร้องอธิปไตยคืนมา ทหารอินโดนีเซียได้สังหารประชาชาติ และนานาชาติได้กดดันอินโดนีเซียมากขึ้น อินโดนีเซียจึงยอมให้ชาวติมอร์รตะวันออกลงประชามติว่าจะแยกตัวเป็นเอกราชหรือไม่ ในวันที่ 30 สิงหาคม 1999 ซึ่งชาวติมอร์ ร้อยละ 80 เห็นควรให้แยกเป็นเอกราชจากนั้นความรุนแรงได้เกิดขึ้นอีก มีการสังหารเข่นฆ่าชาวติมอร์อย่างโหดเหี้ยม โดยกลุ่มกองกำลังที่นิยมอินโดนีเซียและต่อต้านการประกาศเอกราช ซึ่งตลอดช่วงการต่อสู้เพื่อเอกราชนี้ ชาวติมอร์ถูกสังหารไปราว 2 แสนคน ดังนั้นสหประชาชาติ จึงได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือโดยจัดตั้งกองกำลังนานาชาติเข้าไปดูแล ต่อมาวันที่ 20 พฤษภาคม ค.. 2002 ติมอร์ตะวันออกจึงได้ประกาศเอกราช โดยมีนายซานานา กุสเมาเป็นประธานาธิบดี คนแรก

                                               3.1.5 การละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน ในช่วงวันที่ 6 – 9 มิถุนายน ค.. 1989 นักศึกษาปัญญาชาวจีนได้ก่อการประท้วงรัฐบาลจีนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพรัฐบาลจีนซึ่งมีเติ้งเสี่ยวผิงเป็นผู้นำ ก็ได้สั่งการให้มีการปราบปรามอย่างรุนแรง จนเกิดการบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากและชาวจีนบางส่วนได้ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่จัตุรัส เทียนอันเหมินครั้งนั้นทำให้สหรัฐอเมริกาและหลายประเทศประท้วงว่าจีนละเมิดสิทธิมนุษยชน และตอบโต้จีนด้วยการคว่ำบาททางเศรษฐกิจ ตลอดจนคัดค้านการเป็นเจ้าภาพการประชุมและการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกเป็นเวลานาน

               นอกจากนี้ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทย เช่น กรณีเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ค.. 1973 กรณีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ค.. 1976 และเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ ค.. 1992 เป็นต้น

               3.2 แนวทางการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน

                               3.2.1 แนวทางขององค์การสหประชาชาติ องค์การสหประชาชาติมีหน้าที่โดยตรงในการแก้ปัญหานี้ โดยในบางครั้งก็อาจใช้มาตรการ ที่เข้มข้นขึ้น เช่น การปิดล้อมเศรษฐกิจ (Sanction) ดังเช่นที่เคยทำกับประเทศสหภาพแอฟริกาใต้ ระหว่าง ค.. 1980-1987 ในกรณีที่ แอฟริกาใต้ใช้นโยบายแบ่งแยกผิว (Aparthied) กดขี่คนผิวดำหรืออย่างกรณีประเทศซิมบับเวก็เช่นกัน ได้จัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งเป็นหน่วยงานประจำ เช่น สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ และองค์การมูลนิธิเอกชนอีกหลายหน่วยงาน นอกจากนี้สหประชาชาติยังได้ใช้มาตรการทางทหาร เพื่อแก้ไขปัญหานี้ด้วย

                                3.2.2 บทบาทขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีที่องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือเข้าไปแทรกแซงในอดีตประเทศยูโกสลาเวีย ในกรณีบอสเนียและโคโซโว เป็นต้น
                ปัจจุบันการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้กลายเป็นภาระหน้าที่ของ สังคมโลกที่จะต้องช่วยดูแลไม่ว่าจะเกิดขึ้นในภูมิภาคใดแต่บางครั้งก็มีปัญหา อยู่บ้าง เพราะหาไม่รอบคอบรัดกุมก็จะกลายเป็นเรื่องการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศ นั้น ๆ ขึ้นได้

               4. ปัญหายาเสพติด

                สารเสพติด หมายถึง สิ่งที่เสพแล้วจะทำให้ผู้เสพเกิดความต้องการทั่งร่างกายและจิตใจในการที่จะได้เสพต่อไปโดยไม่สามารถหยุดเสพได้ จำนวนความต้องการก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย และจิตใจในภายหลัง สารเสพติดที่ก่อให้เกิดปัญหาแก่สังคมโลก เช่น ฝิ่น เฮโรอีน โคเคน แอมเฟตามีน นอกจากที่กล่าวแล้วสารเสพติดหรือ ยาเสพติดยังมีอีกหลายชนิด เช่น มอร์ฟีน กัญชา ซึ่งมีแหล่งผลิตมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยาหลอนประสาทที่ทำให้ผู้เสพ รู้สึกเคลิบคลิ้ม หลงผิด จิตวิปริต นอกนั้นก็มีในชื่อต่างๆ  เช่น ยาอี ยาเค ยาเลิฟ เป็นต้น

                                4.1 ปัญหาที่เกิดขึ้นจากสารเสพติด มีหลายประการ เช่น
                                                4.1.1 ปัญหาสุขภาพ ทำให้สุขภาพทรุดโทรม จิตเสื่อมโทรม ร่างกายอ่อนเพลีย ขาดภูมิคุ้มกันโรค ความสามารถทางสมองลดลง
                                                4.1.2 ปัญหาทางสังคม ทำให้เกิด อาชญากรรม การทำลายทรัพยากรมนุษย์
                                                4.1.3 ปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้เสียทรัพย์ อีกทั้งยังบั่นทอนกำลังแรงงานในการผลิตสิ้นเปลืองงบประมาณในการบำบัดและปราบปราม
                                               4.1.4 ปัญหาทางการเมืองก่อให้เกิดปัญหาระดับชาติในการปราบปราม ก่อให้เกิดปัญหาการขัดแย้งระหว่างประเทศ เช่น กรณีของประเทศไทย กับเมียนมาร์ นอกจากนี้ขบวนการค้ายังมีอิทธิพลต่อรัฐบาล และกลายเป็นกลุ่มอิทธิพลในบ้านเมืองอีกด้วย
                4.2 แนวทางแก้ปัญหาสารเสพติด องค์การสหประชาชาติ และนานาชาติตระหนักในเรื่องภัยของสารเสพติดเป็นเวลานานแล้ว โดยได้จัดให้มีการประชุมนานาชาติที่นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนในปี ค.. 1909 และได้มีการลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยฝิ่นที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ กำหนดให้ประเทศต่าง ๆ ออกกฎหมายควบคุมการปลูกฝิ่นและการสูบฝิ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 องค์การสหประชาชาติได้จัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง คือ คณะกรรมาธิการสารเสพติดในโทษในปี ค.. 1946 ต่อมาประเทศส่วนใหญ่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสารเสพติดให้โทษ ค.. 1961 โดยมีสาระสำคัญ คือ   
4.2.1 ขยายการควบคุมสารเสพติดให้กว้างยิ่งขึ้น ครอบคลุมสารเสพติดทุกชนิดโดยธรรมชาติ และประดิษฐ์หรือสังเคราะห์
4.2.2 ทุกประเทศต้องแจ้งจำนวนการใช้สารอันเกิดจากฝิ่นในการบำรุงรักษา ส่งออก เก็บรักษา และการทำลาย
4.2.3 อนุญาตให้ 5 ประเทศปลูกฝิ่นเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ คือ อินเดีย ตุรกี ฮังการี จีน และรัสเซีย โดยจะต้องรับประกันว่าจะควบคุมการปลูกฝิ่นเพื่อ    การแพทย์เท่านั้น
4.2.4 ให้มี สภาควบคุมสารเสพติดให้โทษระหว่างประเทศเพื่อประสานงานการควบคุมสารเสพติดทั่วโลก

ต่อมาในปี ค.. 1972 ได้มีการแก้ไขอนุสัญญาเพื่อเพิ่มสาระสำคัญอีก 2 ข้อ คือ ให้อำนาจ คณะกรรมการเดินทางเข้าตรวจสอบปริมาณการใช้ การนำเข้า การส่งออก การเก็บรักษา และการทำลายสารเสพติดและมีการตกลงว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่กระทำผิดเกี่ยวกับการใช้และผลิตสารเสพติด อย่างไรก็ตามปัญหาสารเสพติดจะลดลงไม่ได้เลย หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกประเทศและทุกฝ่าย

ยาเอกซ์ตาซี
ฝิ่น
เฮโรอิน
ยาบ้า
กัญชา
ยาไอซ์

5. ปัญหาโรคเอดส์

คำว่าเอดส์ (AIDS) มาจากคำในภาษาอังกฤษว่า Acquired Immuno-Deficiency Syndromes หมายถึงอาการที่เกิดจากภูมิคุ้มกันในร่างกายบกพร่อง เอดส์มีต้นกำเนิดมาจากประเทศในทวีปแอฟริกาเมื่อราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 แล้วแพร่กระจายไปตามส่วนต่าง ๆ ของโลกอย่างรวดเร็ว
                5.1 สาเหตุของการแพร่กระจายของเอดส์ เอดส์เป็นอาการที่เกิดจากร่างกาย ได้รับไวรัสเอชไอวี (Human Immuno-deficiency Virus : HIV) ซึ่งเข้าไปทำลายภูมิคุ้มกัน ในร่างกายมนุษย์ ทำให้ผู้ที่รับเชื้อเอชไอวีเข้าไปมีอาการป่วย แต่การปรากฏอาการป่วยอาจกินเวลาไม่เท่ากัน ในแต่ละคนทำให้โรคนี้แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วเพราะมนุษย์อาจไม่รู้ว่าตนได้รับเชื้อเอชไอวี และนำไปแพร่เชื้อต่อ ๆ ไป ทั้งนี้การแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวี เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี การติดต่อกันทางเลือดโดยเฉพาะการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันของผู้เสพยาเสพติด และการแพร่เชื้อจากมารดาที่ตั้งครรภ์สู่ทารกในครรภ์ ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาผู้ที่ได้รับเชื้อเอชไอวีให้หายจากการเป็นเอดส์ได้ จึงก่อให้เกิดปัญหาที่รุนแรงต่อโลกในปัจจุบัน
                5.2 แนวทางการแก้ปัญหาการแพร่กระจายของเอดส์ ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตระหนักถึงภัยอันร้ายแรงของเอดส์จึงมีการรณรงค์เพื่อป้องกันการแพร่ กระจายของเอดส์และพยายามค้นหายาที่จะรักษาผู้ป่วยเอดส์ดังนี้
                                5.2.1 การรณรงค์ให้ประชากรโลกตระหนักถึงภัยอันร้ายแรงของเอดส์
                                5.2.2 ให้ความรู้ในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ด้วยการรณรงค์ให้มีการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ การระมัดระวังในการใช้เข็มฉีดยาทั้งในกลุ่มที่เสพสารเสพติดและในทางการแพทย์
                                5.2.3 องค์การอนามัยโลกพยายามค้นหาด้วยยาที่จะรักษาผู้ป่วยเอดส์ ซึ่งคาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จในไม่ช้านี้
 ปัญหาและการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของโลก
                ตั้งแต่ ค.. 1990 เป็นต้นมา การค้าโลกเริ่มเข้าสู่ยุคใหม่ที่นำหลักการค้าเสรีมาเป็นกรอบในการค้าระหว่างประเทศ แต่ปัญหาเศรษฐกิจก็ยังคงอยู่ ประกอบกับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกได้เริ่มขึ้นด้วย จึงทำให้ปัญหาทางเศรษฐกิจรุนแรงมากขึ้นที่สำคัญมี 2 ประการ คือ
                1. ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก หลายภูมิภาคของโลกประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว เช่น สหรัฐอเมริกา ประสบปัญหาการขาดดุลงบประมาณติดต่อกันหลายปีและปัญหาเงินเฟ้อ ในละตินอเมริกา เช่น อาร์เจตินา บราซิล และอุรุกวัย ประสบปัญหาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำ และมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจอ่อนแอจนต้องขอรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากองค์การระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ส่วนในประเทศญี่ปุ่นได้เกิดปัญหาธุรกิจที่ดิน ส่งผลให้เกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจ กำลังซื้อของประชาชนลดลง บริษัทเอกชนล้มละลายเป็นจำนวนมาก แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นได้ใช้มาตรการต่าง ๆ มาแก้ไขก็ยังไม่สามารถฉุดรั้งให้ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นได้ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ก็ลงความเห็นว่าต้นตอของการเกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของเอเชีย ใน ค.. 1997 นั้น มีประเทศไทยเป็นจุดเริ่มต้น โดยเรียกวิกฤติการณ์นี้ว่า โรคต้มยำกุ้งและลุกลามไปยังประเทศต่าง ๆ ดังนั้นการยกประเทศไทยเป็นกรณีศึกษาจึงสามารถทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกได้
                                1.1 สาเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจ เกิดจากหนี้สินเดิมที่มีผลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ดังนี้                            
                                                1.1.1 รายได้ของประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานการเกษตร เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรเป็นสินค้าที่ราคาไม่สูงและผันแปรไปตามสภาพของฤดูกาล ประเทศในเอเชีย แอฟริกาและละตินอเมริกา ซึ่งมีรายได้หลักจากผลผลิตทางการเกษตรไม่สามารถส่งสินค้าออกให้ได้สัดส่วนกับการนำเข้า จึงทำให้ประเทศเหล่านี้มีหนี้สินมากขึ้น
                                                1.1.2 การไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับระบบเศรษฐกิจเสรี เนื่องจากบางประเทศมีข้อจำกัดด้านความรู้ ประสบการณ์ ทุนและเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในยุโรปตะวันออก ซึ่งเคยเป็นประเทศสังคมนิยมมาก่อน ต้องมาปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์มาเป็นระบบเสรี
                                                1.1.3 ข้อจำกัดของระบบนิเวศ เช่นทุ่งหญ้า สัตว์บก สัตว์น้ำ ป่าไม้ มีข้อจำกัดไม่เพียงพอต่อการเพิ่มของประชากร
                                1.2 การวางนโยบายทางการเงินการคลังมีข้อผิดพลาด คือ
                                                1.2.1 การใช้นโยบายพัฒนาประเทศ โดยการกู้ยืมเงินนำมาลงทุนในการอุตสาหกรรมการสร้างเขื่อน การพัฒนาเส้นทางคมนาคม และการศึกษา โดยคาดหวังว่าจะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้มีรายได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้มีเงินมาจ่ายคืนหนี้สิน แต่ในความเป็นจริงเงินกู้ส่วนใหญ่ได้ถูกนำไปใช้ในโครงการที่ทำให้รายได้เพิ่มขึ้นไม่มากพอที่จะจ่ายคืนหนี้ และสะสมหนี้มากขึ้น
                                                1.2.2 การตรึงอัตราแลกเปลี่ยนไว้กับเงินสกุลดอลลาร์มากเกินไป ทำให้นักธุรกิจเอกชนไม่ได้ดำเนินการป้องกันความเสื่อมจากความผันผวนของค่าเงิน ทั้งยังไม่สะท้อนค่าที่แท้จริงของเงินของตน ทำให้ไม่รู้สถานะที่แท้จริงในระบบเศรษฐกิจ เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนเกิดความผันผวนขึ้นจึงทำให้ขาดทุนเสียหายมหาศาล                           
                                                1.2.3 การบริหารการลงทุนที่ผิดพลาดมีโครงการหลายโครงการที่น่าลงทุน กลับไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาล เช่น มีผลงานวิจัยว่าหากรัฐบาลลงทุนในโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพในการใช้พลังงานภายในเวลา 35 ปี จะได้กำไรจากการประหยัดงบประมาณที่ต้องใช้จ่ายด้านพลังงานจำนวนมหาศาล
                                                1.2.4 การประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจผิดพลาด เพราะข้อมูลมีไม่เพียงพอและมีการตกแต่งข้อมูลให้ผิดไปจากสภาพความเป็นจริง ทำให้ตัดสินใจผิดพลาด เช่น การทุ่มเทช่วยเหลือสถาบันการเงินการต่อสู้เพื่อรักษาค่าเงิน เป็นต้น
                                                1.2.5 การเปิดเสรีด้านการเงิน มีการตั้งกิจการวิเทศธนกิจ เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการธนาคารระหว่างประเทศ (Bangkok International Banking Facility : BIBF) โดยไม่ได้ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ และไม่มีมาตรการที่เหมาะสมรองรับ ทำให้นักธุรกิจเอกชนกู้เงินมาลงทุนอย่างไม่เหมาะสม ไม่เอื้ออำนวยให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว
                                1.3 การบริหารและการจัดการทางด้านธุรกิจที่ผิดพลาด ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในการประกอบการทางธุรกิจของเอกชน มีการละเมิดกฎเกณฑ์ทางการเงิน การเลือกปฏิบัติ (Double Standard) การหาผลประโยชน์ของผู้บริหารกิจการโดยมิชอบ ทำให้การประกอบการเกิดปัญหาเกี่ยวกับสภาพคล่อง
1.4 การประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจผิดพลาด การนำสินค้าฟุ่มเฟือยจากต่างประเทศมากเกินไป เช่น รถยนต์ น้ำหอม เหล้าต่างประเทศ และสินค้าประเภทแฟชั่น ราคาแพงกลายเป็นสินค้าที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของประชาชน มูลค่าการนำเข้าสินค้าเหล่านี้ เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เสียเปรียบดุลการค้ากับต่างประเทศหลายปีติดต่อกัน
1.5 การแทรกแซงและโจมตีค่าเงินของกองทุนต่างชาติ เพื่อหวังกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลงไป นักค้าเงินข้ามชาติ ที่มีส่วนสำคัญในการโจมตีค่าเงินบาท คือ จอร์จ โซรอส นักธุรกิจการเงินเชื้อชาติยิว สัญชาติอเมริกัน ที่เป็นแกนนำของกลุ่มทุนแควนตัม โดยมีกลุ่มทุนใหญ่ของโลก คือ เฮดจ์ฟัน (Hadge Fund) หนุนหลัง
                จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดวิกฤติ ทางเศรษฐกิจในประเทศและลุกลามไปยังอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น จีน และภูมิภาคอื่นๆ ของโลก
                                1.6 แนวทางการแก้ปัญหา การชะลอตัวของระบบเศรษฐกิจและวิกฤติทางเศรษฐกิจ
                                                1.6.1 บทบาทขององค์การสหประชาชาติ สหประชาชาติ มีหน่วยงานสำคัญในการควบคุมดูแลทางด้านเศรษฐกิจ คือ ธนาคารของโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างระเทศ (IMF) ตามที่กล่าวมาแล้วในบทที่ 2
                                                1.6.2 การรวมกลุ่มเพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ และเพื่อสร้างอำนาจ ต่อรองในระบบเศรษฐกิจ ปัจจุบันมีการแข่งขันสูงมากจากประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วได้เปรียบอย่างมากในการแข่งขันเนื่องจากมีเทคโนโลยีที่สูงกว่า และมีทุนมากกว่าการรวมกลุ่มทำให้ศักยภาพของประเทศกำลังพัฒนาสูงขึ้น
                                                1.6.3 บทบาทของประเทศที่พัฒนาแล้วในการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา เช่น สหรัฐอเมริกา ที่ให้ความช่วยเหลือเม็กซิโก เมื่อเม็กซิโกเริ่มประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจระหว่าง ค.. 1982-1995 สหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำในการหาเงินกู้ให้แม็กซิโกได้นำไปผ่อนใช้ดอกเบี้ยเงินกู้ สหรัฐอเมริกายังเปิดสินเชื่อให้แก่ประเทศไทย และฟิลิปปินส์ เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น อังกฤษก็มีส่วนเข้าไปให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ประเทศในละตินอเมริกา และล่าสุดญี่ปุ่นก็ได้ประกาศให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ประเทศในเอเชียที่เรียกว่า มิยาซาวา แพลนนอกจากนั้นยังมีการให้ความช่วยเหลือทางด้านอุตสาหกรรม
จอร์จ โซรอส
                2. ปัญหาความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ
                ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ได้เกิดความขัดแย้งทางเศรษฐกิจขึ้นในหลายด้าน ดังนี้
                2.1 ลักษณะของความขัดแย้งเรื่องระบบเศรษฐกิจ
                ความขัดแย้งที่เห็นได้เด่นชัดคือความขัดแย้งในเรื่อง เศรษฐกิจเสรีกับระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี หรือบางครั้งเรียกว่าระบบทุนนิยม มีหลักการสำคัญคือ ผู้ประกอบการทางเศรษฐกิจจะต้องเป็นเอกชนที่มีเสรีภาพในการประกอบการโดย รัฐบาลเป็นเพียงผู้ควบคุมดูแลให้การประกอบการเป็นไปตามกฎเกณฑ์กติกาเท่านั้น จะเข้าแทรกแซงในการประกอบการไม่ได้ ส่วนระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ เชื่อว่ารัฐบาลมีหน้าที่ในการประกอบการเอกชนเป็นเพียงผู้ที่จะต้องปฏิบัติ ตามหรือรัฐบาลกำหนดเท่านั้น หลักการของทั้งสองระบบนี้มีความขัดแย้งกันอย่างชัดเจน
                จากหลักปรัชญาทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ทำให้เกดความขัดแย้งกันระหว่างค่ายเสรีและค่ายคอมมิวนิสต์ เป็นระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษ นอกจากนั้นแม้ภายในประเทศเองก็มีความขัดแย้งกันเองโดยกลุ่มที่เชื่อในระบบ เศรษฐกิจแบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ ก็กล่าวหาว่าระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนั้นสร้างความไม่เป็นธรรมขึ้นในสังคม เพราะเหตุว่าโอกาสทางเศรษฐกิจก็จะมากไปด้วย อันทำให้เกิดช่องว่างในสังคม และสังคมใดก็ตามที่มีช่องว่างทางสังคมมากสังคมนั้นก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้
                                2.2 ลักษณะความขัดแย้งในเรื่องระเบียบทางการค้า
                                การแข่งขันทางเศรษฐกิจในระยะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นนานาประเทศได้พยายามออกกฎระเบียบด้านการค้าขายที่มีลักษณะที่จะทำให้ตนเองได้ผลประโยชน์มากที่สุด ด้วยวิธีการดังนี้
                                                2.2.1 การตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้า เพื่อไม่ให้สินค้าจากต่างประเทศเข้ามาแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศไทยได้สะดวก สินค้าบางประเภทต้องเสียภาษีถึง 500 เปอร์เซ็นต์ เช่น ภาษีนำเข้ารถยนต์ในประเทศไทยก่อน ค.. 1992 บางประเทศก็ได้กำหนดระเบียบการค้าในลักษณะต่าง ตอบแทนโดยกำหนดไว้ว่า หากประเทศใดต้องการจะขายสินค้าก็จะต้องซื้อสินค้าจากประเทศของตนด้วย เป็นต้น
                                                2.2.2 การห้ามขายสินค้าบางประเภท ห้ามต่างชาติประกอบการในบางธุรกิจตลอดจนการปฏิบัติต่อคู่ค้าในลักษณะที่ไม่เสมอภาคกัน
                                                2.2.3 การให้อภิสิทธิ์ด้านการเสียภาษีนำเข้า สิทธิจีเอสพี (GSP) ทำให้หลายประเทศกลายเป็นคู่แข่งขันจนกลายเป็นข้อพิพาททางการค้า ดังเช่น อังกฤษกับฝรั่งเศส ก่อน ค.. 1957 ก่อนการก่อตั้ง องค์การตลาดร่วมยุโรป สหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่นในยุคทศวรรษที่ 1990 และสหรัฐอเมริกากับจีนก็เป็นลักษณะเช่นเดียวกัน
2.2    ความขัดแย้งในการแสวงหาแหล่งวัตถุดิบ
ญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้นำด้านอุตสาหกรรมในเอเชียแต่ขาดแคลนวัตถุดิบจึงต้องหาแหล่งวัตถุดิบนอกประเทศ ประกอบกับค่าแรงของญี่ปุ่นแพง จึงทำให้บริษัทใหญ่ของญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนทำให้เกิดความขัดแย้งกับประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ผลิตสินค้าในลักษณะเดียวกัน โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา
ปัญหา เฉพาะเศรษฐกิจดังกล่าว ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่าสงครามทางเศรษฐกิจ ประเทศที่มีศักยภาพในทางเศรษฐกิจการค้าก็ระดมกลยุทธ์การแข่งขันทุกรูปแบบ เข้าต่อสู้กันทั้งที่อยู่ในกฎเกณฑ์กติกาและทั้งนอกกฎเกณฑ์กติกา ส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้า เกิดภาวะความตึงเครียดขึ้น
2.4 แนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ สังคมโลกมีแนวทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ ดังนี้
                2.4.1 การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจเป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ในระดับหนึ่ง เช่น OPEC , AFTA , EU , NAFTA เป็นต้น
                2.4.2 การใช้มาตรการแก้ปัญหาขององค์การสหประชาชาติ องค์การสหประชาชาติได้เข้ามาแก้ปัญหาเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับเรื่องทางเศรษฐกิจ เช่น กรณีแย่งชิงเขตการประมงระหว่างอังกฤษกับไอซ์แลนด์ที่เรียกว่า สงครามปลาค็อดแก้ไขโดยการเจรจา ส่วนกรณีอิรักยึดครองคูเวต ใน ค.. 1990 เพื่อครอบครองแหล่งทรัพยากรน้ำมัน แก้ไขโดยการใช้กองกำลัง
                2.4.3 การใช้มาตรการแก้ไขปัญหาขององค์การการค้าโลก องค์การการค้าโลกซึ่งทำหน้าที่เป็นเวทีเจรจาแก้ไขความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ ส่งเสริมการค้าเสรี การจัดระบบภาษีอากรให้เป็นธรรมเพื่อให้ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจของโลกลดน้อยลง
                อย่างไรก็ตามปัญหานี้คงแก้ไขได้ยากเพราะความไม่เป็นธรรมทางการค้า จึงขอยกบทความมาประกอบเพื่อให้เห็นชัดเจน ดังนี้
การค้าโลก ไม่เป็นธรรมทรรศนะจากโจเซฟ  สติกลิตซ์
                โจเซฟ อี.สติกลิตซ์ (Joseph E.Sticlitz) ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อปี ค.. 2001 เขาเคยเป็นประธานในสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ ของอดีต ประธานาธิบดีบิล คลินตัน ก่อนที่จะมาเป็นรองประธานและหัวคณะนักเศรษฐศาสตร์ ประจำธนาคารโลก จนถึงปี ค.. 2000 แล้วมาเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ง

โจเซฟ อี.สติกลิตซ์ (Joseph E.Sticlitz)
                แต่เหนือสิ่งอื่นใด โจเซฟ อี สติกลิตซ์ เป็นคนอธิบายเรื่องความไม่เป็นธรรมในการค้าของโลกได้ดีที่สุดคนหนึ่ง เขาอธิบายความไม่เป็นธรรมที่ว่านี้ไว้อย่างเป็นรูปธรรมในข้อเขียนที่เผยแพร่ เมื่อวันที่ 8 กันยายน ค.. 2003 เพื่อต้อนรับการประชุมองค์การการค้าโลกที่แคนคูน เม็กซิโก ว่าเพราะเหตุใด ประเทศกำลังพัฒนาถึงไม่อยากทำความตกลงเรื่องสินค้าเกษตรภายใต้กรอบที่สหรัฐอเมริกาและอียูกำหนด สติกลิตซ์บอกว่า เรื่องสินค้าเกษตรเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศกำลังพัฒนา เป็นความสำคัญในระดับความเป็นความตายเพราะผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศเหล่านี้พึ่งอยู่กับสินค้าในหมวดนี้ เขาบอกว่าถึงคุณจะเป็นชาวไร่ฝ้ายทำงานรับจ้างไปวัน ๆ ในแอฟริกาสักประเทศไม่เคยรู้จักคำว่า โลกาภิวัฒน์ ก็ยังตกเป็นเหยื่อของมันได้ ชาวไร่ขายฝ้าย ฝ้ายถูกขายไปปั่นเป็นเส้นด้ายทอเป็นผืนผ้าส่งต่อไปให้คนงานในมอริเชียส ตัดเย็บเป็นเสื้อแสงด้วยสไตล์ที่ออกแบบโดยนักออกแบบอิตาเลียน แล้วมันถูกสวมโดยชาวปาริเซียง นี่คือ โลกาภิวัฒน์ของฝ้ายที่คุณปลูกกับมือ ในโลกยุคปัจจุบัน โลกของการค้าที่ถูกกำหนดมาให้ไม่เป็นธรรมและในบางกรณียิ่งนับวันยิ่งไม่เป็นธรรมมากขึ้นทุกทีในสายตาของสติกลิตซ์ เขาบอกว่า ชาวไร่ในประเทศกำลังพัฒนาขายฝ้ายได้ราคาต่ำ เพราะสหรัฐอเมริกาใช้เงินปีละถึง 4,000 ล้านดอลลาร์อุดหนุนชาวไร่ฝ้าย 25,000 คนของตนเอง กระตุ้นให้ผลิตฝ้ายออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่มูลค่าผลผลิตที่ผลิตได้น้อยกว่าเงินที่อุดหนุน ให้ไปด้วยซ้ำผลลัพธ์ก็คือ เมื่อผลิตออกมามากเท่าไหร่ราคาฝ้ายทั่วโลกก็ต่ำลงมากเท่านั้นอีกตัว อย่างหนึ่งที่สติกลิตซ์ยกมาเป็นอุทาหรณ์ก็คือ ปกติแล้วเรามักคิดว่าซื้อแม่วัวมา 1 ตัว เพื่อรีดนมขายทำรายได้เลี้ยงตัว แต่ถึงจุดหนึ่งราคาของนมที่ผลิตได้ต่ำเสียจนไม่คุ้มกับการนำไปซื้อหาอาหารมาเลี้ยงดูแม่วัว สาเหตุก็คือ นมสดที่เราผลิตได้จำเป็นต้องขายในราคาต่ำเพื่อแข่งขันกับนมผงที่ผลิตจากอเมริกาและยุโรป ซึ่งจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรของตัวเองในการเลี้ยงวัวตัวละ 2 ดอลลาร์ต่อวัน นี่คือรูปแบบหนึ่งของความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากการค้าขายแบบเสรีที่รัฐบาลประเทศตะวันตก อย่างสหรัฐอเมริกาและชาติสมาชิก อียูพยายามจะบังคับกะเกณฑ์ให้กลายเป็นกฎที่ครอบคลุมทุกประเทศไปทั่วโลก
                ในอีกรูปแบบหนึ่งนั้น สติกลิตซ์ยกตัวอย่างให้เห็นว่า ในทางกลับกันถ้าคุณป่วยด้วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเอดส์ และรู้ว่ามียาสำหรับเยียวยาอาการของโรคอยู่ รัฐบาลของคุณเองก็ยินดีหายาให้ในราคาที่ผู้ป่วยสามารถจ่ายได้ แต่บริษัทผู้ผลิตยาในสหรัฐอเมริกากลับยืนยันว่าคุณจะต้องจ่ายใน ราคาอเมริกันซึ่งสูงอย่างไม่น่าเชื่อราวปีละ 10,000 ดอลลาร์ (กว่า 400,000 บาท) สูงขนาดผู้ป่วยประเทศกำลังพัฒนาทำงานต่อไปอีก 20 ปี ก็ยังหาเงินได้ไม่มากมายเท่านั้น ผู้ป่วยเหล่านี้ไม่เข้าใจว่าทำไมยาเม็ดเล็ก ๆ เหล่านี้ถึงได้แพงนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อบริษัทในแอฟริกาเองบอกว่าสามารถจะผลิตขายให้ได้ในราคาต่ำกว่าแต่ทำไม่ได้ เพราะอเมริกันบอกว่าที่เรียกว่า สิทธิทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้พวกเขามีสิทธิห้ามไม่ให้บริษัทอื่น ๆ ผลิตยาเหล่านี้ออกมาได้ ทั้ง ๆ ที่มันอาจหมายถึงความเป็นความตายของผู้ป่วยในประเทศกำลังพัฒนาก็ตามที (มติชนรายวัน 19 กันยายน 2546 : 10)
 ปัญหาและการแก้ปัญหาทางการเมืองการปกครองของโลก
                ปัญหาทางการเมืองการปกครองของโลกเกิดขึ้นมากมายในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก ที่สำคัญได้แก่
                1. ปัญหาความขัดแย้งเรื่องลัทธิการเมืองการปกครอง ลักษณะของความขัดแย้งเรื่องลัทธิการเมืองการปกครองที่มีความชัดเจนกันมากที่สุดคือ ประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ความขัดแย้งระหว่าง 2 ลัทธินี้รุนแรงจนทำให้เกิดการแบ่งกลุ่มประเทศขึ้นมาในโลกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโลกเสรี และกลุ่มโลกคอมมิวนิสต์จนนำไปสู่ความขัดแย้งที่สำคัญ คือ
                                1.1 ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต ซึ่งเกิดจากความเชื่อในลัทธิการเมือง ที่แตกต่างกันการปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นลัทธิการเมืองที่เชื่อในเรื่องลัทธิเสรีภาพของประชาชน การมีส่วนในการปกครองตนเอง ถือว่าประชาชนคือองค์ประกอบสำคัญที่สุดในการปกครองส่วนลัทธิคอมมิวนิสต์นั้น เชื่อในเรื่องความเสมอภาคและเชื่อว่ารัฐเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการ ปกครองส่วนประชาชนนั้นจะต้องเชื่อฟังรัฐ ปรัชญาของการปกครอง แบบประชาธิปไตย คือการปกครองของประชาชน โดยประชาชนเพื่อประชาชนถือว่าเสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์และรัฐบาลมีอำนาจ อยู่ในวงจำกัดส่วนปรัชญาของการปกครองแบบเผด็จการหรือระบบคอมมิวนิสต์ ถือว่า อำนาจคือความถูกต้อง ซึ่งเป็นการจำกัด สิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งทางการเมือง และเศรษฐกิจ ดังนั้นหากเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ต้องสกัดกั้นสิทธิคอมมิวนิสต์และหากเชื่อมั่นในลัทธิคอมมิวนิสต์ต้องทำลาย ระบอบประชาธิปไตย ทั้งสองค่ายจึงต้องพยายามล้มล้างอีกฝ่ายหนึ่ง แต่สหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตนั้นไม่สามารถต่อสู้กันได้ ไม่ว่าจะขัดแย้งกันเพียงใดก็ตาม ด้วยเหตุที่ต่างก็มีอาวุธนิวเคลียร์เป็นจำนวนมาก หากเกิดการต่อสู้รบระหว่างสองประเทศนี้เมื่อใดก็หมายถึงสงครามล้างโลก ดังนั้นทั้งสองประเทศจึงต้องหันมาใช้วิธีการ สงครามเย็นต่อสู้กันแทน ทำให้สังคมโลกในช่วงเวลา 50 ปี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นช่วงสงครามเย็นตามที่ได้กล่าวมาแล้ว
                                1.2  ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกันกับจีน
                                                ในช่วง วันที่ 6 – 9 มิถุนายน ค.. 1989 นักศึกษาปัญญาชนจีนได้ก่อการประท้วงรัฐบาลเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน รัฐบาลจีนส่งทหารเข้าปราบปรามนักศึกษาอย่างโหดร้ายทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก สหรัฐอเมริกาและหลายประเทศทางยุโรปตะวันตก ได้กล่าวโจมตีจีนว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนและคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับจีน ส่วนจีนก็วิเคราะห์ว่าต้นเหตุของการล่มสลายของโซเวียตและประเทศยุโรปตะวันออก สหรัฐอเมริกามีส่วนพัวพันเป็นเหตุให้จีนหันไปมีความสัมพันธ์กับรัสเซีย และเพิ่มความสัมพันธ์กับประเทศกลุ่มโลกที่สามมากขึ้น
                แนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องลัทธิการเมืองการปกครอง อาจใช้วิธีดังนี้
                1) การใช้มาตรการขององค์การสหประชาชาติ องค์การสหประชาชาติได้เข้าไปแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
                                (1) การจัดตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหา ดังเช่น ในกรณีของประเทศกรีซเมื่อถูกคุกคามจากประเทศแอลเบเนีย ยูโกสลาเวีย และบัลแกเรียที่เป็นบริวารของสหภาพโซเวียต ใน ค.. 1946 คณะ กรรมการที่แต่งตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงได้เข้าไปแทรกแซงและศึกษาสถานการณ์ และรายงานว่าทั้งสามประเทศเป็นฝ่ายผิดที่เข้าไปก่อความวุ่นวายในประเทศกรีซ ต่อมาก็ได้ลงมติให้ประณามการกระทำของทั้งสามประเทศ เมื่อถูกกดดันจากประชาคมโลกจึงทำให้แอลเบเนีย ยูโกสลาเวียและบัลแกเรีย จึงต้องยุติการแทรกแซงในกรีซ
                                (2) การจัดการเจรจา องค์การสหประชาชาติได้จัดให้มีการเจรจาระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตขึ้นหลายครั้ง เช่นการเจรจาแก้ปัญหาเพื่อยุติสงครามเกาหลี ใน ค.. 1951 การเจรจาเพื่อแก้ปัญหาในสงครามเวียดนามระหว่างทศวรรษ 1960 และทศวรรษ 1970 การเจรจาเพื่อแก้ปัญหาสงครามในกัมพูชา ในทศวรรษที่ 1990 เป็นต้น
                                (3) การใช้มาตรการทางทหาร ตัวอย่างเห็นได้ชัดเจนคือ ปฏิบัติการในเกาหลี ระหว่าง ค.. 1950-1953 เมื่อเกาหลีเหนือซึ่งปกครองโดยลัทธิคอมมิวนิสต์ส่งกองทัพข้ามเส้นขนานที่ 38 เข้าโจมตีเกาหลีใต้ องค์การสหประชาชาติที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นกำลังหลัก ได้ส่งกองทัพกว่า 35 ประเทศเข้าไปปกป้องเกาหลีใต้ให้คงดำรงความเป็นเอกราชอยู่ได้ สหประชาชาติยังใช้มาตรการทางทหารในสงครามอ่าวเปอร์เซียในต้นทศวรรษ 1990 เพื่อกดดันให้อิรักถอนทหารออกจากคูเวต
                2) การใช้มาตรการการเจรจาของคู่กรณี เป็นการเจรจากันระหว่าง 2 อภิมหาอำนาจคือ สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตที่เริ่มตระหนักถึงภัยอันตรายจากการเผชิญหน้าโดยมีอาวุธนิวเคลียร์เป็นปัจจัยหนุนสหรัฐอเมริกาจึงได้ปรับนโยบายใหม่จากแนวคิดที่ว่า ถ้ามีการรุกรานจากสหภาพโซเวียตแต่เพียงเล็กน้อย สหรัฐอเมริกาจะตอบโต้อย่างรุนแรงทุกเรื่อง มาเป็นการจำกัดการตอบโต้การรุกราน จากสหภาพโซเวียตเป็นเรื่อง ๆ เป็นผลให้สหภาพโซเวียตเปลี่ยน นโยบายตาม ในที่สุดทำให้อภิมหาอำนาจทั้งสองสามารถบรรลุถึงข้อตกลงในการจำกัดการทดลอง อาวุธนิวเคลียร์ได้ในระดับหนึ่งหรือกรณีความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือกับ เกาหลีใต้ที่ดำเนินมากว่า 50 ปี โดยผู้นำของทั้งสองประเทศได้จัดประชุมสุดยอดที่เมืองเปียงยางเมื่อต้นปี ค.. 2000 ส่งผลให้เกิดบรรยากาศผ่อนคลายความตึงเครียดและอาจนำไปสู่การรวมประเทศในที่สุด
                3) การรวมกลุ่มของประเทศโลกที่สาม เป็นความพยายามรวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับกลุ่มสหรัฐอเมริกาและกลุ่มสหภาพโซเวียต และเพื่อสลัดให้หลุดพ้นจากการเป็นเครื่องมือของอภิมหาอำนาจทั้งสอง เริ่มโดยนายกรัฐมนตรีเนรูห์ แห่งอินเดีย ประธานาธิบดีนัสเซอร์แห่งอียิปต์และประธานาธิบดีตีโต้แห่งยูโกสลาเวีย เป็นตัวตั้งตัวตีจัดการประชุมขึ้นที่กรุงเบลเกรดประเทศยูโกสลาเวียโดยมีประเทศกลุ่มโลกที่สามเข้าร่วมประชุม 25 ประเทศ เริ่มมีการจัดตั้งกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดขึ้นใน ค.. 1961 จากนั้นก็มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับประเทศไทยนั้น ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกใน ค.. 1994 เป็นลำดับที่ 109 หลักการของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ใด คือ การให้แต่ประเทศสามารถกำหนดนโยบายที่เป็นอิสระ ปลอดจากการครอบงำของสองอภิมหาอำนาจเพื่อสันติภาพ และเป็นพลังถ่วงดุลของอภิมหาอำนาจทั้งสอง การตั้งกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดขึ้นมีผลให้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ลดความรุนแรงลงด้วย
                2. ปัญหาความขัดแย้งเรื่องดินแดน ลักษณะของความขัดแย้งเรื่องดินแดน มีมาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ที่นับเป็นปัญหาสำคัญ ได้แก่
                                1) ความขัดแย้งระหว่างชาวยิวกับชาวปาเลสไตล์ ดินแดนปาเลสไตน์เคยเป็นของชาวฮิบรูหรือชาวยิว มาตั้งแต่ก่อนคริสตกาล เมื่อโมเลสพาผู้คนมาตั้งถิ่นฐาน ในดินแดนที่ พระเจ้าประทานให้ต่อมาชาวโรมัน เรืองอำนาจจึงได้กวาดต้อนชาวยิวไปใช้งานทั่วจักรวรรดิโรมัน และกระจัดกระจายอยู่ในประเทศต่าง ๆ ชาวยิว มักจะถูกเจ้าของประเทศกดขี่ขมเหง และถูกเข่นฆ่าเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พอสงครามสงบฝ่ายชนะสงคราม จึงได้อพยพชาวยิว กลับมาตังแต่รัฐของชาวยิวในปาเลสไตน์ ทั้ง ๆ ที่ในระยะแรกได้มีข้อตกลงให้แยกปาเลสไตน์ออกเป็น 2 ส่วน คือ รัฐของชาวยิวส่วนหนึ่ง และรัฐของชาวปาเลสไตน์ส่วนหนึ่ง ซึ่งทั้ง 2 ฝ่าย ก็ไม่พอใจทำให้ชาวปาเลสไตน์ซึ่งอาศัยอยู่ต้องกลายเป็นผู้ไร้ดินแดน ต้องลี้ภัยอยู่ตามแนวชายแดน ทั้งยังขอความช่วยเหลือจากชาวอาหรับที่อยู่ใกล้เคียงโจมตีขับไล่ชาวอิสราเอลออกไป และตั้งกองกำลังขึ้นหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มกันยายนทมิฬ กลุ่มฮาร์มาซที่ปฏิบัติการรุนแรง แต่กลุ่มใหญ่ที่สุดคือ กลุ่มองค์การปลดแอกปาเลสไตน์ (Palestine Liberation Organization : PLO) ที่มีนายยัสเซอร์ อาราฟัด เป็นผู้นำ ส่วนกลุ่มประเทศอาหรับ เช่น เลบานอน อีรัก ซีเรีย ที่มีอียิปต์เป็นผู้นำกลุ่มได้รวมกำลัง ทำสงครามกับอิสราเอลหลายครั้งแต่ไม่เคย เอาชนะได้กลับต้องเสียดินแดนให้อิสราเอลมากขึ้นที่สำคัญคือ ฉนวนกาซา ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน (West Bank) แม้ปัจจุบันนี้ปาเลสไตน์ตั้งเป็นประเทศได้แล้วความขัดแย้งระหว่างชาวยิวกับ ชาวปาเลสไตน์ก็ยังดำเนินอยู่
ยัสเซอร์ อารฟต ผู้นำปาเลสไตน์
ซัดดัม  ฮุสเซน อดีตประธานาธิบดีอีรัก

                                2) กรณีอิรักยึดครองคูเวต ในปี ค.. 1990 อิรักโดยการนำของ ประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซนได้ส่งกองกำลังเข้ายึดคูเวต โดยอ้างว่าคูเวตลักลอบขโมยน้ำมันของอิรัก และละเมิดข้อตกลงในการผลิตน้ำมันที่แท้จริง แล้วอิรักต้องการผนวกดินแดนคูเวตมารวมกับตนเนื่องจากอิรักประสบปัญหาเศรษฐกิจ มีหนี้สินมากมายจากสงคราม 8 ปีกับอิหร่าน การผนวกคูเวตจะทำให้อิรักได้ครอบครองแหล่งน้ำมันที่สำคัญของโลก

แผนที่ตะวันออกกลาง

                3) ปัญหาการแย่งชิงดินแดนระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ทั้ง 2 ประเทศ มีปัญหาในการแย่งชิงแคว้นแคชเมียร์ตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ หลังจากการแบ่งดินแดนเป็น 2 ประเทศใน ค.. 1947 ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้เกิดการสู้รบกันหลายครั้งทั้งอินเดียและปากีสถานต่างอ้างสิทธิเหนือแคว้นแคชเมียร์เพราะ เป็นดินแดนที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นอิสลามผูกพันและอยากรวมกับปากีสถานแต่ เจ้าผู้ครองนครและคนระดับสูงเป็นฮินดูผูกพันและอยากรวมตัวกับประเทศอินเดีย
                แนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องดินแดน ส่วนใหญ่อาศัยบทบาทขององค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ คือ องค์การสหประชาชาติ ซึ่งมีหน่วยงานคณะมนตรีความมั่นคง และการดำเนินการของเลขาธิการสหประชาชาติเป็นหลัก ดังเช่น
                1) กรณีความขัดแย้งระหว่างชาวอิสราเอลกับชาวปาเลสไตน์ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ใน ค.. 1948 สหประชาชาติให้แยกปาเลสไตน์ออกเป็น 2 ส่วน คือ รัฐของชาวยิวและรัฐของชาวปาเลสไตน์เพื่อกันคู่กรณีออกจากกัน แต่ไม่เป็นที่ยอมรับของชาวปาเลสไตน์ และกลุ่มประเทศอาหรับ
                ใน ค.. 1967 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้วางหลักการสำคัญ ในการยึดหลักสงครามหกวันและให้มีการรับรองรัฐต่าง ๆ ในตะวันออกกลางแต่มตินี้ก็ไม่สามารถบรรลุผล เพราะประเทศกลุ่มอาหรับไม่ยอมรับรองรัฐอิสราเอล และอิสราเอลเองก็ไม่ถอนกำลังออกจากเขตยึดครอง
                ใน ค.. 1977 สหรัฐอเมริกาได้เป็นผู้ประสานการเจรจาระหว่างอียิปต์ภายใต้การนำของประธานาธิบดีอัลวาร์ ซาคัต ที่เป็นผู้นำกลุ่มประเทศอาหรับกับอิสราเอล จนสามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพได้ แต่ปัญหาที่ตามมาก็คืออียิปต์ถูกต่อต้านจากประเทศอาหรับหัวรุนแรง และประธานาธิบดีอัลวาร์ ซาคัต ก็ถูกสังหารโดยคนอียิปต์เองที่ไม่พอใจการกระทำของอัลวาร์ ซาคัต
                ใน ค.. 1988 ผู้นำขบวนการ พี แอล โอ คือนายยัสเซอร์ อาราฟัต ได้จัดประชุมสภาแห่งชาติปาเลสไตน์ทั่วโลก ประกาศตั้งประเทศปาเลสไตน์โดยถือเอาฉนวนกาซาและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนเป็นที่ตั้งประเทศและประกาศเลิกใช้วิธีการรุนแรง และการก่อการร้าย ต่อมาประเทศประเลสไตน์ได้รับการรับรองจากประเทศต่าง ๆ เกือบ 30 ประเทศแต่ในทางปฏิบัติยังไม่เป็นผลเพราะดินแดนที่จะเป็นที่ตั้งของประเทศปาเลสไตน์ยังถูกยึดครองโดยกำลังทหารอิสราเอล
                ด้วยความพยายามของทุกฝ่าย ทั้งองค์การสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆ จึงทำให้สันติภาพเริ่มปรากฎขึ้น โดยนายกรัฐมนตรี ยิสซัคราบิน ของอิสราเอล และนายยัสเซอร์ อาราฟัด ผู้นำชาวปาเลสไตน์ ได้ทำสัญญาสันติภาพในวันที่ 16 มกราคม ค.. 1994 โดยอิสราเอลยอมรับการเกิดรัฐปาเลสไตน์ และสัญญาว่จะถอนกำลังทหารจากเขตยึดครองเป็นผลให้ทั้งสองคนได้รับรางวัลในเบลสาขาสันติภาพ แต่สันติภาพก็เริ่มเกิดปัญหาอีก เมื่อยิสซัคราบิน ถูกสังหารโดยนักศักษาหัวรุนแรงชาวยิว ที่ไม่พอใจสัญญาสันติภาพ และเปิดโอกาสให้ผู้นำคนใหม่ที่ไม่เห็นด้วยกับสัญญาสันติภาพคือนายเบนจามิน เนทันยาฮู ขึ้นบริหารประเทศ สัญญาสันติภาพจึงไม่ได้รับการสนองตอบจากอิสราเอล จนเกิดความขัดแย้งขึ้นอีกในปัจจุบัน
                2) กรณีอิรักยึดรองคูเวต ในปี ค.. 1990 นั้น องค์การสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศอาหรับเองเห็นว่าอิรักเป็นผู้ผิด จึงได้มีการเรียกร้องให้อิรักถอนกำลังทหารออกจากคูเวตแต่ไม่ได้รับการสนองตอบจากอิรัก องค์การสหประชาชาติที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำจึงใช้มาตรการปิดล้อมทางเศรษฐกิจใน ค.. 1990 โดยการเรียกร้องให้สมาชิกองค์การสหประชาชาติยุติการค้าขาย และการติดต่อทางธุรกิจกับอิรัก การปิดล้อมทางเศรษฐกิจ แม้จะสร้างปัญหาให้กับอิรักแต่ไม่มากพอที่จะทำให้อิรักถอนกำลังทหารจากคูเวตได้ เนื่องจากมีบางประเทศไม่ให้ความร่วมมือที่สำคัญคือ ประเทศจอร์แดนที่มีพรมแดนติดต่อกับอิรักยังเป็นเส้นทางผ่านเข้าออกของสินค้าจำเป็น
                องค์การสหประชาชาติโดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำจึงได้ใช้มาตรการทางทหารโดยกำหนดว่าหากอิรักยังคงยึดครองคูเวตต่อไปแล้ว ในเดือนมกราคม ค.. 1991 องค์การประชาชาติจะใช้กำลังทหารเข้าปฏิบัติการ แต่ประธานาธิบดี ซัสดัม ฮุสเซน ก็ยังคงดื้อแพ่ง เพราะเชื่อว่าสหภาพโซเวียตจะใช้สิทธิยับยั้ง (Veto) อันจะมีผลให้ไม่สามารถปฏิบัติการทางทหารได้แต่สหภาพโซเวียตแสดงความไม่เห็นชอบด้วยโดยการงดออกเสียงเท่านั้น ดังนั้นในเดือนมกราคม ค.. 1991 กองทัพขององค์การสหประชาชาติที่นำโดยสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส จึงได้เข้าโจมตีกองทัพอิรักด้วยประสิทธิภาพและเทคโนโลยีที่เหนือกว่า ทำให้อิรักต้องถอนทหารออกจากคูเวตในที่สุด และต้องเซ็นสัญญาสันติภาพที่เหมือนเป็นมาตรการลงโทษอิรักมีสาระสำคัญว่า อิรักจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้คูเวตในที่สุด และต้องเซ็นสัญญาสันติภาพที่เหมือนเป็นมาตรการลงโทษอิรักมีสาระสำคัญว่า อิรักจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้คูเวต อิรักต้องยอมรับสัดส่วนการผลิตน้ำมันที่องค์การสหประชาชาติกำหนด อิรักจะต้องถูกจำกัดเขตปฏิบัติการทางทหาร อิรักจะต้องให้เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ (UNSCOM) เข้าไปตรวจสอบอาวุธ จนนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างสหประชาชาติกับอิรัก
                แม้ว่าแนวทางแก้ไขดังกล่าวจะสามารถทำให้อิรักถอนกำลังทหารออกจากคูเวตได้ แต่ก็ทำให้สหรัฐอเมริกาเกิดการเผชิญหน้ากับอิรักอย่างรุนแรง ในเวลาต่อมาสหรัฐอเมริกากล่าวหาอิรักว่าเป็นแหล่งซ่องสุมผู้ก่อการร้ายและมีอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรง และเป็นภัยต่อมนุษยโลก จึงทำให้สหรัฐอเมริกายกกำลังบุกทำลายอิรักในเดือนกันยายน ค.. 2003 โดยไม่รอมติจากองค์การสหประชาชาติ ถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกา จะยึดครองอิรักและจับกุมซัดดัม ฮุสเซนได้ แต่ก็มีกระแสต่อต้านสหรัฐอเมริกามากขึ้น ในมุมมองที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นผู้ไม่เคารพหลักการขององค์การสหประชาชาติเสียเอง
                3) กรณีการแย่งชิงดินแดน ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ใน ค.. 1948 คณะมนตรีความมั่นคงได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการสหประชาชาติสำหรับปากีสถานและอินเดีย (United Nation Commission for Pakistan and India : UNCPI) ประกอบด้วยผู้แทน 3 ฝ่าย ซึ่งมีหน้าที่สังเกตการณ์และทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยปัญหาแคว้นแคชเมียร์ แต่การไกล่เกลี่ยก็ไม่สำเร็จ คณะมนตรีความมั่นคงจึงได้ตั้งผู้สังเกตการณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองประเทศเข้าควบคุมสถานการณ์ พิจารณาเรื่องการพักรบและการถอนทหาร แต่ไม่สำเร็จอีก ใน ค.. 1949 องค์การสหประชาชาติจึงได้แจ้งให้คู่กรณีแก้ปัญหา โดยการเจรจา แต่ก็ไม่สำเร็จอีก เพราะอินเดียไม่ยอมรับ การลงประชามติของประชาชนในแคชเมียร์
                ใน ค.. 1957 คณะมนตรีความมั่นคงได้เตรียมการให้มีผลการลงประชามติโดยมีองค์การสหประชาชาติควบคุม แต่การลงประชามติก็ไม่สามารถจัดขึ้นได้เพราะอินเดียไม่ให้ความร่วมมือ จนเกิดสงครามอีกใน ค.. 1964 – 1965 องค์การสหประชาชาติจึงเข้ายุติสงครามและได้ออกกฎเกณฑ์เพื่อมิให้เกิดการสู้รบอีก เช่น การกำหนดไม่ให้ทั้ง 2 ประเทศเข้าแทรกแซงเหตุการณ์ในแคว้นแคชเมียร์ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร ได้เกิดการสู้รบกันอีก ใน ค.. 1998 จึงทำให้ปัญหายังคงอยู่ตลอดมา
                3. ความขัดแย้งในเรื่องเชื้อชาติ  มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นหลายครั้งอันเป็นผลมาจากความขัดแย้งด้านเชื้อชาติ ดังเช่น กรณีสังหารหมู่ชาวยิวในเยอรมนีก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือกรณีความขัดแย้ง กรณีคนผิวดำกับคนผิวขาว หรือแม้กระทั่งคนผิวสีเดียวกัน แต่ต่างเชื้อชาติ ที่สำคัญได้แก่
                                1) ความขัดแย้งในเมียนมาร์ ประเทศพม่าหรือที่เรียกว่าเมียนมาร์ในปัจจุบันประกอบด้วยประชาชนกลุ่มใหญ่ 4 เชื้อชาติ คือ คนพม่าแท้ซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่สุด กะเหรี่ยง ไทยใหญ่ และมอญ ก่อนที่อังกฤษจะมอบเอกราชแก่พม่า ได้จัดการประชุมเพื่อแก้ปัญหาป้องกันไม่ให้เกิดสงครามกลางเมือง ในอนาคต จนเกิดข้อตกลงปางหลวงขึ้น สาระสำคัญ คือทุกกลุ่มจะได้รับเอกราชโดยเท่าเทียมกัน การร่วมสร้างข้อตกลงนี้เองทำให้ อูนุ ผู้นำขบวนการชาตินิยม ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของพม่าไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลง ทำให้กระเหรี่ยงไทยใหญ่ และมอญ ไม่สามารถก่อตั้งประเทศและประกาศเอกราชได้ ต้องตกเป็นคนกลุ่มน้อยอยู่ในสหภาพเมียนมาร์ จึงได้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลเมียนมาร์ โดยกระเหรี่ยงยึดที่มั่นบริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิน ไทยใหญ่ยึดที่มั่นบริเวณรัฐฉาน (Shan State) และมอญยึดที่มั่นบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ ก่อให้เกิดความไม่สงบอยู่เสมอมาจนทุกวันนี้
                                2) ปัญหาความขัดแย้งในยูโกสลาเวีย ประเทศยูโกสลาเวีย ประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ คนส่วนใหญ่คือ ชาวเซิร์บ ที่มีอำนาจปกครองและบริหารประเทศมาตลอดตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา นอกจากชาวเซิร์บแล้วมีชาวสโลวัก ชาวโครแอท ชาวมุสลิม และชาวเคิร์ดเชื้อสายแอลเบเนีย เดิมประเทศยูโกสลาเวียปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ ภายใต้อิทธิพลของ สหภาพโซเวียต เมื่อโซเวียตล่มสลายใน ค.. 1991 กระแสชาติพันธุ์นิยม และกระแสประชาธิปไตยได้แพร่เข้ามายังประเทศยูโกสลาเวีย ส่งผลให้ชนชาติต่าง ๆ ประกาศแยกตัวเป็นอิสระเริ่มจาก โครเอเชีย สโลเวเนีย มาซิโดเนีย และบอสเนีย การแยกตัวของบอสเนียได้นำไปสู่การสู้รบที่รุนแรง

               แนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องเชื้อชาติ อาจมีแนวทางแก้ปัญหาได้ดังนี้

1)      กรณีความขัดแย้งในเมียนมาร์
ปัญหาการต่อสู้ระหว่างคนต่างเชื้อชาติในเมียนมาร์ไม่ได้รับความสนใจแก้ปัญหาจากสังคมโลกเท่าที่ควร ทั้ง ๆ ที่จากสภาพการสู้รบดังกล่าวทำให้แต่ละฝ่ายต้องสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินไปเป็นจำนวนมาก แต่ถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีหน่วยงานระดับนานาชาติเข้าไปแก้ไข ยังคงปล่อยให้เป็นเรื่องการเมืองภายในของเมียนมาร์ต่อไป จนชาวกระเหรี่ยงต้องเข้ามายึดสถานที่ราชการในประเทศไทยเพื่อเรียกร้องให้นานาชาติเข้าไปแก้ไขปัญหา ถึงกระนั้นก็ไม่มีความก้าวหน้าใด ๆ ทั้งนี้เพราะเมียนมาร์ถือว่าเป็นเรื่องภายในประเทศ

นางอองซาน ซูจี
พลเอกขิ่น ยุ้นต์ อดีตนายกรัฐมนตรีพม่า

2)      กรณีความขัดแย้งในยูโกสลาเวีย
ปัญหาความขัดแย้งเรื่องเชื้อชาติในประเทศยูโกสลาเวีย ในระยะแรกสหประชาชาติเพียงแต่จัดส่งเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและหน่วยงานบรรเทาทุกข์เข้าไปช่วยเหลือ สังเกตุการณ์เท่านั้น เพราะรัฐบาลกลางของยูโกสลาเวียที่เป็นชาวเซิร์บ ประกาศว่าเป็นเรื่องภายในของยูโกสลาเวีย โดยเฉพาะการปราบปรามประชาชนชาวมุสลิม ในแคว้นบอสเนีย จนกระทั่งเมื่อมีการรับรองประเทศบอสเนียจากกลุ่มประเทศยุโรปที่มีกลุ่ม ประชาคมยุโรปเป็นตัวตั้งตัวตีจึงทำให้องค์การสหประชาชาติมีสิทธิตามบท บัญญัติที่จะเข้าไปแทรกแซงได้ โดยการตั้งคณะกรรมการสันติภาพขึ้น แต่รัฐบาลเซิร์บก็ไม่ยอมรับ ยังคงสังหารคนมุสลิมอย่างทารุณต่อไป
ต่อมาองค์การสหประชาชาติได้ขอให้องค์การนาโตส่งกองกำลังเข้ารักษาสันติภาพ ในยูโกสลาเวีย ขณะเดียวกันก็จัดการเจรจาโดยตัวแทนของรัฐบาลเซิร์บและตัวแทนของประชาชนชาวมุสลิม จากการเจรจานานนับปี ในที่สุดก็สามารถตกลงกันได้ โดยรัฐบาลกลางชาวเซิร์บของยูโกสลาเวียยอมรับการแยกตัวของประเทศบอสเนีย
ใน ค.. 1998 องค์การสหประชาชาติ และองค์การนาโต ที่รักษาความสงบอยู่ในยูโกสลาเวีย ก็ต้องแก้ปัญหาอีก เมื่อเกิดกรณีแยกตัวของประชาชนเชื้อสายแอลเบเนีย สงครามล้างเผ่าพันธุ์ครั้งใหม่จึงได้เริ่มขึ้น นายกรัฐมนตรีสโลโบดาล มิโลเซวิซ ไม่ยอมรับข้อเสนอให้แก้ปัญหาด้วยสันติวิธีจากองค์การสหประชาชาติและองค์การนาโตที่ยื่นคำขาดให้ยุติการทำสงครามล้างเผ่าพันธุ์ รัฐบาลกลางเซิร์บกลับไม่ปฏิบัติตาม องค์การนาโต้จึงได้ใช้กองกำลังทหารโจมตีทิ้งระเบิด ยูโกสลาเวียในปลายเดือนมีนาคม ค.. 1999 ปัจจุบันยูโกสลาเวียได้แยกออกเป็น 5 ประเทศ คือ 1.บอสเนีย และเฮอร์เซโกวินา 2. โครเอเชีย 3.สโลวาเนีย 4.มาซิโดเนีย 5.เซอร์เบียและมอนเตเนโกร ส่วนคำว่าประเทศยูโกสลาเวียไม่มีแล้ว

โจเซฟ สตาลิน
มิคาอิล กอร์บาชอฟ
วลาดิเมีย บูติน

4. ความขัดแย้งเรื่องศาสนา ความขัดแย้งในเรื่องศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและทำให้เกิดสงครามระหว่างประเทศ ดังนี้
                         1)  ความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและชาวมุสลิมในประเทศ อินเดียที่มีชาวฮินดูกับชาวมุสลิมขัดแย้งกันก่อนแล้วและทวีความรุนแรงมาก ขึ้นในสมัยที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ แม้กระทั่งในการต่อสู้เพื่อเอกราชของขบวนการชาตินิยมชาวฮินดู ที่นำโดยมหาตมะคานธี กับขบวนการชาตินิยมของมุสลิมที่มีโมฮัมเหม็ดอาลี จินนาห์เป็นผู้นำ ก็มีแนวทางที่แตกกัน และไม่สามารถประสานการต่อสู้ร่วมกันได้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษก็ได้เตรียมมอบเอกราชแก่อินเดีย แต่ก็ตระหนักดีว่าหากไม่แก้ปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาก่อน อาจจะเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นได้ ดังนั้นเมื่อมีการเจรจาที่จะมอบเอกราชให้อินเดีย ใน ค.. 1945 อังกฤษจึงยอมให้สันนิบาตมุสลิมส่งตัวแทนเข้าร่วมเจรจาด้วยสันนิบาต มุสลิมที่มีโมฮัมเหม็ดอาลี จินนาห์ เป็นผู้นำ เรียกร้องที่จะมีประเทศของตนเองแยกออกมาจากประเทศอินเดียได้สำเร็จ และนำไปสู่ความขัดแย้งวุ่นวายจนทุกวันนี้
                         2) ความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับชาวฮินดู ในประเทศศรีลังกาที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวสิงหล นับถือพระพุทธศาสนา ส่วนคนกลุ่มน้อยคือชาวทมิฬนับถือศาสนาฮินดู เป็นอีกดินแดนหนึ่งที่เป็นผลจากการใช้นโยบาย แบ่งแยกแล้วปกครองของอังกฤษ หลังจากได้รับเอกราช ศรีลังกาใช้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบอังกฤษ เนื่องจากประชากรสิงหลที่เป็นชาวพุทธมีจำนวนประมาณ 70% จึงสามารถผูกขาดอำนาจการปกครองตลอดมา ทำให้คนทมิฬที่นับถือศาสนาฮินดู พยายามรวมตัวกันต่อต้านรัฐบาลชาวพุทธ เพื่อแยกตนไปตั้งรัฐใหม่ขึ้นเอง โดยการใช้ยุทธวิธีแบบกองโจรที่มีความรุนแรงมากขึ้นทุกที แกนนำสำคัญของขบวนการชาวทมิฬฮินดู คือ กลุ่ม พยัคฆ์ทมิฬอีแลมโดยยึดแนวทางใช้ความรุนแรง เช่น การลอบสังหาร การก่อวินาศกรรม การวางระเบิด จากการโจมตีครั้งใหญ่ ใน ค.. 1998 ได้สร้างความสูญเสียให้กับฝ่ายรัฐบาลมาก มีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าขบวนการของชาวฮินดู ในศรีลังกาได้รับความช่วยเหลืออย่างลับ ๆ จากอินเดีย
                         แนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องศาสนา มีแนวทางได้ดังนี้
                         1) กรณีความขัดแย้งระหว่างฮินดูกับชาวมุสลิม ก่อนมอบเอกราชนั้น อังกฤษได้มีความพยายามแก้ปัญหาของคนฮินดูและมุสลิมมาตลอด แต่เหตุการณ์กลับรุนแรงมากขึ้นทุกทีจนในที่สุดเห็นว่าไม่มีทางสำเร็จ จึงยอมรับแนวคิดการแบ่งประเทศของสันนิบาตมุสลิม ได้มีการแยกประเทศปากีสถานออกจากอินเดียในวันที่ 15 สิงหาคม ค.. 1947 โดยได้แยกดินแดนที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่มาก คือแคว้นปัญจาบ อัสสัม เบงกอล สินธุ บาลูจิสถานและมณฑลเล็ก ๆ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ผลจากการที่คานธียินยอมในข้อตกลงครั้งนี้ทำให้คนฮินดูหัวรุนแรงไม่พอใจมาก ในที่สุดเขาจึงถูกสังหารโดยเด็กหนุ่มชาวฮินดูนำความเศร้าสลดแก่ชาวฮินดูเป็นอย่างยิ่ง แม้จะแก้ปัญหาโดยการแบ่งแยกดินแดน และการปกครองขาดจากกันระหว่างชาวฮินดูเป็นอย่างยิ่ง แม้จะแก้ปัญหาโดยการแบ่งแยกดินแดน และการปกครองขาดจากกัน ระหว่างชาวฮินดูและชาวมุสลิมแล้ว แต่ความขัดแย้งระหว่างประเทศก็ยังคงอยู่ อินเดียและปากีสถานกลายเป็นประเทศคู่ขัดแย้งจนต้องทำสงครามกันอีกหลายครั้ง จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังมีความขัดแย้งอยู่เสมอมา
                         2)  กรณีความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับชาวฮินดู การแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธและชาวฮินดูในศรีลังกาส่วนใหญ่เกิดจากรัฐบาลศรีลังกาเอง เพราะเป็นเรื่องภายในประเทศ ใน ค.. 1964 รัฐบาลศรีลังกาที่มีนางศิริมาโว บันดาราไนยะเก เป็นนายกรัฐมนตรีได้ตกลงกับรัฐบาลอินเดีย แต่ศาสนาที่แตกต่างกันทำให้ชน 2 กลุ่ม ในศรีลังกามีวัฒนธรรมที่ต่างกันและไม่สามารถเข้ากันได้ ข้อตกลงนี้จึงทำให้ชาวทมิฬฮินดู ต่อต้านเพราะไม่ต้องการกลับอินเดียที่พวกเขาอพยพมาและไม่ต้องการอยู่ใต้การ ปกครองของชาวสิงหลที่นับถือพุทธศาสนา ดังนั้น จึงเพิ่มความรุนแรงในการต่อสู้มากขึ้น ตราบใดที่รัฐบาลอินเดียยังไม่ให้ความร่วมมืออย่างแท้จริง ปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาในศรีลังกาคงจะยุติลงยาก (มนัส ธัญญเกษตร และคนอื่นๆ  2542 : 178-189)
                         อย่างไรก็ตาม ปัญหาของมนุษยชาติไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง ที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน และดำเนินเรื่อยมา แท้ที่จริงแล้วได้มีความพยายามที่จะแก้ไขอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือ 2 แม้แต่หลังสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี ค.. 1990 ประธานาธิบดี จอร์จ บุช (George Bush) ก็ได้หาวิธีการที่จะทำให้สังคมโลกดำเนินวิถีทางสังคมการเมืองเศรษฐกิจในลักษณะเดียวกัน เพื่อลดปัญหาการขัดแย้ง จึงได้จัดวางระเบียบโลกใหม่ (New World Order) ซึ่งประกอบด้วย 4 เรื่อง คือ ประชาธิปไตย สิทธิของมนุษยชน การค้าเสรีและสิ่งแวดล้อม
                         ประชาธิปไตย ในทุกประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้นจะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของตนเองว่าอำนาจอธิปไตย เป็นอำนาจของประชาชนเสมอ การแสดงออกของอำนาจอธิปไตยมีหลายอย่าง เช่น การเลือกตั้ง การออกเสียงประชามติ การมีสิทธิเสนอร่างกฎหมาย การตัดสินปัญหาสำคัญต่าง  ๆ เป็นต้น
                         สิทธิมนุษยชน ประสบการณ์จากสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้คนจำนวนมากเชื่อว่า การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพ จะก่อให้เกิดสันติภาพ และความผาสุกขึ้นในสังคมระหว่างประเทศ
                         การค้าเสรี คือ นโยบายการค้าระหว่างประเทศที่รัฐบาลไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงในการค้า จะปล่อยให้การค้าดำเนินไปเองโดยปราศจากการกีดกัน
                         การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นล้วนมีอิทธิพลเกี่ยวโยงถึงกัน เป็นปัจจัยในการเกื้อหนุนซึ่งกันและกันผลกระทบจากปัจจัยหนึ่งจะมีส่วนเสริมสร้างหรือทำลายอีกส่วนหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งแวดล้อมจึงเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงโดยการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษย์มากที่สุด เพื่อยกระดับ คุณภาพแห่งชีวิต

บทสรุปบทที่ 3

            ในส่วนที่ว่าด้วยปัญหาและการแก้ปัญหาของโลกนั้นจะเห็นว่าวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในส่วนต่างๆ ของโลกที่ส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติทั้งโดยตรงและโดยอ้อมนั้นได้กล่าวถึงใน  3  ประเด็น คือ
1. ปัญหาและการแก้ไขปัญหาทางสังคมของโลก  ประเด็นปัญหาที่สำคัญ  คือ  ปัญหาการเพิ่มประชากร  ซึ่งมีผลกระทบให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา  เช่น ปัญหาการขาดแคลนอาหาร  ปัญหาการแบ่งปันทรัพยากร  ปัญหาที่อยู่อาศัย  ปัญหาการศึกษา  ปัญหาการจัดการด้นสาธารณูปโภค  ปัญหาสุขภาพ  เป็นต้น   นอกจากนี้ยังมีปัญหาสิ่งแวดล้อม  ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน  ปัญหาสารเสพติด  ตลอดจน ปัญหาเอดส์ 
                        ส่วนแนวทางในการแก้ไขปัญหา  นั้นมีหลายวิธีโดยแก้ที่ต้นเหตุของปัญหานั้น  หน่วยงานที่มีบทบาทมีทั้งองค์การสหประชาชาติ  และองค์กรชำนัญพิเศษ  เช่น  ยูเนสโก  องค์การอาหารและเกษตร องค์การอนามัยโลก  สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ  ตลอดจนองค์กรเอกชนต่างๆ  ได้ร่วมกันรณรงค์ในการป้องกัน  การให้การศึกษา  การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม  ตลอดจนการใช้มาตรการทางกฎหมาย เพื่อใช้แก้ปัญหาเหล่านี้
                        2.  ปัญหาและการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของโลก   ซึ่งมีปัญหาสำคัญ คือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก  จนมีผลให้กลายประเทศเกิดปัญหาเศรษฐกิจ  โดยเฉพาะประเทศด้อยพัฒนา  ในเอเชีย  แอฟริกา  และละตินอเมริกา  หรือแม้แต่ในสหรัฐอเมริกาก็กระทบด้วย  เป็นผลให้บริษัทขนาดใหญ่ต้องตกแต่งบัญชี  เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจว่าเศรษฐกิจของบริษัทยังมั่นคง  ซึ่งความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น  ผลที่ตามก็คือ ก5ะทบต่อเศรษฐกิจ  โดยภาพรวมของสหรัฐอเมริกาด้วย
                        นอกจากนั้นก็ยังมีปัญหาความขัดแย้งทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนคือ  ระบบเศรษฐกิจของกลุ่มโลกเสรี และระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง  2  ค่าย  และความขัดแย้งเรื่องระเบียบการค้าที่ตั้งกฎเกณฑ์  การส่งเสริมและการกีดกันทางการค้า  ตลอดจนความขัดแย้งในการแสวงหาแหล่งวัตถุดิบ
                        ส่วนแนวทางในการแก้ปัญหาในระดับนานาชาติ ก็คือการรวมกลุ่ม  เช่น  กลุ่มอาเซียน กลุ่มสหภาพยุโรป  กลุ่มโอเปก  และอื่นๆ  อีกมากตลอดจนใช้มาตรการแก้ปัญหาขององค์การสหประชาชาติ  และการเจรจาทางการค้า  ซึ่งก็ได้ช่วยบรรเทาความรุนแรงทางเศรษฐกิจลงได้บ้าง
3. ปัญหาและการแก้ปัญหาทางการเมืองของโลก  มีปัญหาเรื่องลัทธิการเมืองทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา  ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ มากมาย
                        ปัญหาความขัดแย้งเรื่องดินแดน  เช่น  ในปาเสลไตน์  ในคูเวต  ในอินเดียกับปากีสถาน ความขัดแย้งในเรื่องเชื้อชาติในเมียนมาร์  ในยูโกสลาเวีย  ความขัดแย้งในเรื่องศาสนาในแคชเมียร์  ในศรีลังกา
                        ส่วนแนวทางการแก้ปัญหานั้น มีการใช้มาตรการตั้งแต่ขั้นเจรจา  จนถึงการใช้กำลังเข้าแก้ปัญหา ซึ่งมีทั้งได้ผลมากและน้อย  แตกต่างกันไปแล้วแต่กรณี
                        จากปัญหาทางสังคมเศรษฐกิจ  การเมืองและแนวทางแก้ไขปัญหาที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นในโลก  ตราบใดที่มนุษย์ยังมีความแตกต่างกัน  ทั้งในเรื่องความคิด  ชาติพันธุ์ ศาสนา และองค์ประกอบความเป็นชาติ   ตราบนั้นปัญหาคงยังต้องมีตลอดไป  ขึ้นอยู่กับแนวทางแก้ปัญหา ไม่ดีพอ  และไม่ได้รับความร่วมมือในการแก้ปัญหา  โอกาสที่มนุษย์จะเปิดฉากทำสงคามทำลายล้างกันก็จะเกิดขึ้น  ความสูญเนียครั้งยิ่งใหญ่ก็จะกลับมาเยือนชาวโลกอีก  แล้วก็จะเกิดความพยายามแสวงหาสันติภาพกันอีก เป็นวัฎจักร  เช่นนี้เรื่อยไป

คำถามท้ายบทที่ 3
1.ปัญหาที่สำคัญของมนุษยชาติในปัจจุบันคืออะไร เพราะเหตุใด
2.สิทธิมนุษยชนหมายถึงอะไร  และยกตัวอย่าง การละเมิดสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศมา 2 กรณี และยกตัวอย่างการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยมา 2 กรณี
3.จงยกตัวอย่างความขัดแย้งที่มีสาเหตุมาจาก เชื้อชาติ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้มา  2 แห่ง
4.จงยกตัวอย่างความขัดแย้งที่มีสาเหตุมาจาก ดินแดน ที่เกิดขึ้นในขณะนี้มา  2 แห่ง
5.จงยกตัวอย่างความขัดแย้งที่มีสาเหตุมาจาก ศาสนา  ที่เกิดขึ้นในขณะนี้มา  2 แห่ง
6.GMO คืออะไร และมีผลดี ผลเสียอย่างไร