การปรับตัวของประเทศไทยในสังคมโลก
(ข้อมูลจาก http://web.kku.ac.th/myongy/text/f5.htm)
ความนำ
สังคมโลกได้พัฒนามาสู่ยุคโลกาภิวัฒน์
หรือยุคไร้พรมแดนอันเป็นผลมาจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โลกาภวัฒน์ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยทั้งด้านสังคม
เศรษฐกิจ และการเมือง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขื้น ตั้งแต่ ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540)
ซึ่งมีผลมาถึงปัจจุบัน ประเทศไทยฐานะหน่วยหนึ่งของสังคมโลก
จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดซึ่งได้ดำเนินมาตลอดช่วงเวลาอันยาวนาน
นับตั้งแต่ชาติตะวันตกได้แผ่อิทธิพลเข้ามา
ซึ่งมีรูปแบบและวิธีการปรับตัวที่สะท้อนให้เห็นถึงกุศโลบายอันแยบยลของผู้นำไทยที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล
เข้าใจสภาพความเป็นจริงระหว่างประเทศ สามารถดำเนินนโยบายที่ชาญฉลาด
โดยยอมเสียสละบางอย่างเพื่อรักษาเอกราชและอิสระภาพของประเทศไว้
การปรับตัวของไทยก่อนสงครามโลกครั้งที่
2
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยต้องมีการปรับตัวที่สำคัญที่สุด คือ ภัยคุกคามจากลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก
ทำให้เราต้องเปิดประเทศติดต่อกับตะวันตก และเริ่มปรับตัวเข้าสู่ยุดใหม่
นับตั้งแต่การทำสนธิสัญญาเบาว์ริง กับประเทศอังกฤษ ในปี
ค.ศ. 1855 (พ.ศ. 2398) เป็นต้นมา
จากนั้นสังคมไทยก็มีการปรับตัวมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน
1.
การปรับตัวของไทยหลังสนธิสัญญาเบาว์ริง
สนธิสัญญาเบาว์ริงเป็นสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีที่ไทยทำกับประเทศอังกฤษ
เมื่อปี ค.ศ. 1855 เป็นสนธิสัญญาที่บังคับให้ไทยต้องเปิดการค้าเสรีกับประเทศอังกฤษ
ภายหลังได้มีประเทศตะวันตกชาติอื่นๆ
เข้ามาขอทำสนธิสัญญากับไทยเช่นเดียวกับสนธิสัญญาเบาว์ริง
สัญญาเหล่านี้เป็นสัญญาที่บังคับให้ไทยต้องเปิดการค้าเสรีกับประเทศตะวันตกไทยไม่มีทางเลี่ยงจึงจำเป็นต้องทำในภาวะจำยอม
ภายหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งระบบเศรษฐกิจไทยได้เชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจโลก
ระบบการผลิตของไทยเปลี่ยนจากการผลิตเพื่อยังชีพเป็นการผลิตเพื่อการค้า
การค้าขยายตัวมีชาวต่างชาติเข้ามาค้าขายเพิ่มมากขึ้น ผลกระทบจากสนธิสัญญาเบาว์ริ่งทำให้ไทยต้องมีการปรับตัวทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ
และการเมือง ดังนี้
1.1
การปรับปรุงด้านขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม เป็นการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม
โดยการปรับปรุงประเพณีที่ล้าสมัยและส่งเสริมการเรียนภาษาอังกฤษ
การเปิดโอกาสให้พวกมิชชันนารีเข้ามาตั้งโรงเรียนสอนศาสนา ตั้งโรงพิมพ์ ออกหนังสือ Bangkok Recorder และเผยแพร่วิทยาการด้านต่าง ๆ
การส่งเสริมการศึกษา การตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือน เพื่อฝึกคนเข้ารับราชการ
การส่งคนไทยไปศึกษาต่างประเทศ ที่สำคัญที่สุด คือ การเลิกทาส และเลิกระบบไพร่
1.2 การปฏิรูประบบเงินตราและการธนาคาร
เป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การปฏิรูปเงินตรา การออกธนบัตร
การตั้งหน่วยงานกลางสำหรับเก็บภาษี การตั้งกระทรวงการคลัง
การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานเงินตราจากมาตรฐานเงินเป็นมาตรฐานทองคำ การจัดทำงบประมาณแผ่นดิน
การปรับปรุงด้านการเกษตร และการชลประทาน การตัดถนน ขุดคลอง การไปรษณีย์โทรเลข
โทรศัพท์ การรถไฟ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างเมืองหลวงกับหัวเมือง
1.3
การปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน เป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองจากเดิมเปลี่ยนมาเป็นแบบกระทรวง
ทบวง กรม ยกเลิกการปกครองแบบกินเมือง เปลี่ยนเป็นการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ
รวมอำนาจการบริหารเข้าสู่ส่วนกลาง เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพภายในชาติ
เพื่อต่อสู้กับอิทธิพลของลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก โดยเฉพาะฝรั่งเศสและอังกฤษ
การปรับปรุงกองทัพ การปรับปรุงด้านกฎหมายและการศาลให้ทันสมัย
การจ้างชาวต่างประเทศมาเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน
โดยเฉพาะด้านกฎหมายระหว่างประเทศและที่สำคัญที่สุดคือการเสียดินแดนในปี ค.ศ. 1893
(พ.ศ. 2436 หรือ ร.ศ. 112) เพื่อแลกตัวเอกราชของชาติ
การปรับตัวของไทยดังกล่าวทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ
ประเทศตะวันตกจึงไม่สามารถเอามาเป็นข้ออ้างในการแผ่อำนาจเข้ามาโดยอ้างว่าเพื่อจะมาพัฒนาให้ทันสมัย
การปรับตัวดังกล่าวนับเป็นความชาญฉลาดของผู้นำไทยในอดีตที่มองการณ์ไกล
และรู้เท่าทันโลก
The first World War 1914-1918
2. ไทยในสงครามโลกครั้งที่
1
สงครามโลกครั้งที่ 1
เริ่มขึ้นในยุโรปเมื่อเดือนสิงหาม ค.ศ. 1914 ระหว่างฝ่ายมหาอำนาจกลางอันมีเยอรมนี
ออสเตรีย ฮังการี กับฝ่ายสัมพันธมิตร อันมีอังกฤษ
ฝรั่งเศส และรัสเซีย ในระยะแรกไทยประกาศตัวเป็นกลาง
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวิเคราะห์ สถานการณ์ในขณะนั้น
แล้วเห็นว่าเราควรเข้าร่วมสงครามโดยเข้ากับฝ่ายสัมพันธมิตร
ซึ่งกำลังได้เปรียบในสงคราม เพื่อไทยจะได้มีโอกาสแก้ไขสัญญาที่เสียเปรียบ
ผลจากการที่ไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1
ทำให้นานาประเทศรู้จักประเทศไทยและไทยได้มีโอกาสเรียกร้องขอแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่ทำไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่
4 และข้อเสียเปรียบหลายประการได้รับการแก้ไขหลังสงครามโลกครั้งที่ 1
มาสำเร็จบริบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 8
|
|
|
|
|
|
3. ไทยในสงครามโลกครั้งที่
2
สงครามโลกครั้งที่ 2
เริ่มขึ้นในยุโรป เมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1939
ในระยะแรกที่ฝรั่งเศสเพลี่ยงพล้ำต่อเยอรมนี
ไทยได้ทำการเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส แต่ฝรั่งเศสปฏิเสธไทยกับฝรั่งเศสจึงเกิดกรณีพิพาทกัน
ต่อมาญี่ปุ่นเข้ามาไกล่เกลี่ยในปี ค.ศ. 1941 ไทยได้ดินแดนฝั่งขวา แม่น้ำโขง
และเขมรส่วนในคือเสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ
ที่เสียให้ฝรั่งเศสกลับคืนมา
World War II in Europe
ในเดือนธันวาคม
ค.ศ. 1941 ญี่ปุ่นได้เปิดฉากโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ ฐานทัพเรือของสหรัฐอเมริกา
ในหมู่เกาะฮาวายและญี่ปุ่นได้ส่งกำลังเข้าโจมตีไทย ในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1941
ไทยไม่สามารถต้านทานญี่ปุ่นได้
จึงต้องยอมให้ญี่ปุ่นตั้งฐานทัพในประเทศไทยและไทยได้ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา
ในวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 1942 การประกาศสงครามของไทยครั้งนี้มีคนไทยที่ไม่เห็นด้วยได้รวมตัวตั้งเป็นขบวนการเสรีไทย
เพื่อร่วมมือกับสัมพันธมิตรและต่อต้านญี่ปุ่น
หัวหน้าขบวนการเสรีไทยที่สำคัญคือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
อัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา และม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท
สวัสดิวัฒน์ หัวหน้าเสรีไทยในประเทศอังกฤษ และนายปรีดี
พนมยงค์ เป็นหัวหน้าเสรีไทยในประเทศไทย
รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ให้การรับรองการกระทำของเสรีไทย
และให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและฝึกอาสาสมัครที่จะเข้ามาปฏิบัติงานในเมืองไทย
world war II in pacific
|
|
|
|
ไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2
|
สงครามโลกครั้งที่
2 ยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น นายควง อภัยวงศ์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ. 1945 ไทยได้ออกประกาศว่า
การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 1942 นั้นเป็นโมฆะ
เพราะจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสงครามโดยพลการ
รัฐบาลสหรัฐอเมริกาประกาศรับรองคำประกาศของไทย แต่อังกฤษไม่ยอมรับรอง
ไทยได้เจรจาต่อรองกับอังกฤษและต้องยอมคืนดินแดนในมลายู
และแคว้นฉานที่ได้มาระหว่างสงคราม และไทยต้องจัดส่งข้าวสารจำนวนหนึ่งล้านห้าแสนตันแก่อังกฤษ
โดยไม่คิดมูลค่า และต้องยอมคืนดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงและดินแดนเขมร ส่วนใน
อันได้แก่ เสียมราฐ (Siem Reap หรือ นครวัด นครธม) พระตะบอง (Battambong) และศรีโสภณ (Banteay Mean Chey)
ที่ได้มาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 คืนแก่ฝรั่งเศส
ความร่วมมือกับประเทศมหาอำนาจครั้งนั้นทำให้ไทยได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1946 เป็นสมาชิกลำดับที่ 55
การปรับตัวช่วงนี้ของไทยนับว่ามีความสำคัญมาก เพราะเป็นช่วงที่อยู่ในภาวะคับขัน
ต้องใช้ปัญญาและความสามารถของผู้นำในการเจรจาต่อรอง
และยอมแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ต่าง ๆ
ตามข้อเรียกร้องของชาติมหาอำนาจสามารถพาชาติฝ่าฟันวิกฤตมาได้
|
|
|
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
|
นายปรีดี พนมยงค์
|
นายควง อภัยวงศ์
|
เสรีไทย
|
การปรับตัวของไทยในยุคสงครามเย็น
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดภาวะสงครามเย็นอันเป็นผลมาจากการแข่งขันด้านการเมือง
เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และกำลังอาวุธ ระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก โลกถูกแบ่งออกเป็น 2 ค่าย คือ
โลกเสรี และโลกคอมมิวนิสต์ มหาอำนาจทั้ง 2 ฝ่ายพยายามเข้ามาแทรกแซงการเมืองในภูมิภาคต่าง
ๆ
จนนำไปสู่วิกฤตการณ์การต่อสู้อันเนื่องมาจากความขัดแย้งเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง
และเนื่องจากสหรัฐอเมริกาให้ความช่วยเหลือประเทศไทย
จนเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ชนะสงคราม ไทยจึงเลือกให้การสนับสนุนสหรัฐอเมริกาในสภาวะสงครามเย็น
จนเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ชนะสงคราม
ไทยจึงเลือกให้การสนับสนุนสหรัฐอเมริกาในสภาวะสงครามเย็นอันเป็นผลให้สหรัฐอเมริกาเข้ามามีอิทธิพลต่อไทยทั้งด้านการเมือง
เศรษฐกิจ และสังคม
2.1 การเข้าเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศ ภายหลังจากที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์นำโดยโฮจิมินห์
(Nguen That Thanh)
ได้รับชัยชนะในสงครามกอบกู้เอกราชของเวียดนาม ทำให้สงครามเย็นแผ่เข้ามาในเอเชีย
ตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อสหรัฐอเมริกาขยายบทบาททางทหารเข้ามาด้วยการจัดตั้งองค์การสนธิสัญญา
ป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South
East Asia Treaty Organization : SEATO) โดยมีสมาชิก 8 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ
ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไทย ฟิลิปปินส์ และปากีสถาน
ต่อมาในช่วงที่สหรัฐอเมริกาเริ่มถอนตัวออกจากสงครามเวียดนาม
ในขณะที่จีนยังให้การสนับสนุนคอมมิวนิสต์ในประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ไทยเกรงว่าจะเกิดช่องว่างอำนาจ
จึงร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านก่อตั้งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือสมาคมอาเซียนขึ้นใน
ค.ศ. 1967 เมื่อแรกตั้งเรียกว่า สมาคมอาสา(ASA)
ปัจจุบันไทยได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
นับว่าเป็นการเสริมสร้างบทบาทในเวทีการเมืองของโลกและปกป้องผลประโยชน์ของไทยในระดับนานาชาติอีกด้วย
2.2
นโยบายอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับประเทศอินโดจีน
เมื่อคอมมิวนิสต์ประสบชัยชนะในเวียดนาม ลาว และกัมพูชา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975
ไทยต้องปรับปรุงเปลี่ยนนโยบายอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับประเทศเพื่อนบ้านอิน
โดจีน
ภายหลังที่เวียดนามรุกรานกัมพูชาโดยสนับสนุนให้เฮง สัมริน
ขึ้นปกครองกัมพูชาและขับไล่เขมรแดงหลบหนีมาอยู่ป่าตามแนวชายแดนไทยกัมพูชา
โดยไทยและอาเซียนได้สร้างแนวร่วม กับประเทศมหาอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริกา
สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่นและยุโรปตะวันตก
เพื่อสกัดกั้นการขยายอำนาจของเวียดนามที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและประเทศคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกและมุ่งมั่นในสันติภาพของภูมิภาคนี้
2.3
นโยบายผูกมิตรกับประเทศตะวันตก ในยุคสงครามเย็นไทยได้ผูกมิตรกับประเทศตะวันตกโดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ
นโยบายต่างประเทศของไทยในระยะนี้คือการต่อต้านคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
ต่อมาเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างจีนกับรัสเซีย
และจีนหันมาปรับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา ไทยจำเป็นต้องปรับนโยบายโดยลดความใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาและเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกา
ถอนฐานทัพจากไทย แล้วหันไปสถาปนาความสัมพันธ์กับลาว กัมพูชา และเวียดนาม
ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1973 (พ.ศ. 2516)
การเมืองไทยได้ปรับเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย มากขึ้น ประชาชนและพรรคการเมืองได้เข้ามามีบทบาทในการบริหารประเทศและได้มีการปรับเปลี่ยน
นโยบายต่างประเทศของไทยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ระหว่างประเทศ
ผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือ นายกรัฐมนตรี ม.ร.วคึกฤทธิ์
ปราโมช ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนเเมื่อวันที่
1 กรกฎาคม ค.ศ. 1975 โดยหวังจะได้รับผลประโยชน์ทั้งด้านการเมืองเศรษฐกิจ
และสังคมและขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา
ก็เริ่มห่างเหินกันมากขึ้น
2.4
นโยบายการทูตเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ หรือการทูตรอบทิศทาง ในปี ค.ศ. 1985
ไทยได้เปรียบดุลการค้าจากสหรัฐอเมริกา จึงถูกสหรัฐอเมริกา
ใช้มาตรการกีดกันการค้า
ประเทศไทยได้ปรับตัวโดยนำการทูตเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจชักชวนให้นักธุรกิจมาลง
ทุนในประเทศและประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ชาวต่างประเทศมาท่องเที่ยวมากขึ้น
เป็นผลให้การลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนของญี่ปุ่น
ชื่อเสียงของประเทศไทยจึงได้รับการยอมรับจากนานาชาติยิ่งขึ้น
2.5
นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า หรือนโยบายอนุภูมิภาคนิยม (Sub-regionalism) ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต
สงครามเย็นยุติลง ไทยหันมาร่วมมือกับประเทศอินโดจีน โดยประกาศนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า”
เพราะเห็นโอกาสที่จะพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้
ในรูปของความร่วมมืออนุภูมิภาค หรือความร่วมมือสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ทางภาคเหนือ มี
ไทย พม่า จีน และลาว ต่อมาขยายเป็น ห้าเหลี่ยมเศรษฐกิจมี ไทย พม่า บังคลาเทศ อินเดีย
ศรีลังกา และหกเหลี่ยมเศรษฐกิจ มี จีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม
ส่วนทางใต้คือความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ มี ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ในขณะเดียวกันไทยพยายามจะใช้โอกาสในการเปิดประตูสู่อินโดจีน
โดยมีเป้าหมายหลักคือ อินโดจีน พม่า และอาเซียนในปี ค.ศ. 1992
ไทยได้ผลักดันให้มีการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ในช่วง ค.ศ. 2002
ได้เริ่มโครงการ “สามเหลี่ยมมรกต” (The Emeral
Triangk) เพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย ลาว
กัมพูชา
การปรับตัวของไทยในยุคโลกาภิวัฒน์
ภายหลังสงครามเย็นยุติลง
สหรัฐอเมริกากลายเป็นผู้นำเพียงผู้เดียว ทั้งยังได้ประกาศระเบียบโลกใหม่ (New World Order) 4 ประการ คือ ระบอบประชาธิปไตย การค้าเสรี
การเคารพสิทธิมนุษยชน และการปกป้องสิ่งแวดล้อม
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของโลกเปลี่ยนจากระบบ สองศูนย์อำนาจไปสู่หลายศูนย์อำนาจ
เกิดการแข่งขันด้านเศรษฐกิจ การกีดกันการค้า
การรวมกลุ่มกันด้านเศรษฐกิจตามภูมิภาคต่างๆ
เพื่อสร้างอำนาจต่อรองและถ่วงดุลกันด้านเศรษฐกิจ เช่น การรวมตัว
เป็นตลาดเดียวของประชาคมยุโรป การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) และเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) เป็นต้น สถานการณ์เปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและในโลกและการแข่งขันที่ไร้พรมแดน
เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยต้องมีการปรับตัวเพื่อกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจและเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขัน
การปรับตัวที่สำคัญมีดังนี้
|
มลพิษ มากับความเจริญ
|
1. การปรับตัวของไทยด้านสังคม กระแสโลกาภิวัฒน์
และระเบียบโลกใหม่ที่เน้นเรื่องการค้าเสรี
ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจโลกมีความเชื่อมโยงกัน
การแพร่ขยายอิทธิพลทางการค้าของบริษัทข้ามชาติได้เข้ามาทำลายธุรกิจขนาดย่อมภายในประเทศ
สภาวการณ์ดังกล่าวทำให้ไทยต้องปรับตัวเพื่อศักยภาพแห่งการแข่งขัน
การปรับตัวที่สำคัญมีดังนี้
1.1
ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การพัฒนาแผนพัฒนาเศรษฐกิจ
และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 แสดงให้เห็นจุดเปลี่ยนของยุทธศาสตร์การพัฒนาที่หันมาให้ความสนใจเรื่องการพัฒนาแบบยั่งยืน
และมียุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ เน้นการพัฒนาคนโดยถือว่าคนคือทรัพยากรที่สำคัญของชาติที่เรียกว่า
“ทรัพยากรมนุษย์”
การรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
การส่งเสริมระบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น
โครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรท้องถิ่น การสร้างประชารัฐ โดยมุ่งประสานรัฐกับประชาชนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
การสร้างสังคมที่ร่วมกันแก้ปัญหาทุกอย่างแบบบูรณาการในรูปเบญจภาคี
ประกอบด้วยชุมชน รัฐ นักวิชาการ องค์กรเอกชน และองค์กรธุรกิจ
1.2 ปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น โดยให้ความสำคัญกับคนในท้องถิ่นและมีความเชื่อว่าการพัฒนาจะต้องเกิดจากความต้องการของชาวบ้าน
เพื่อประโยชน์ของชาวบ้านเอง ดังคำพูดที่ว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” ยุทธศาสตร์การพัฒนานี้มีหลักการสำคัญ 5
ประการ คือ
1.2.1
หลักการพึ่งตนเอง ซึ่งมีหลักการสำคัญ คือ “พออยู่พอกิน”
1.2.2
ปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต จากเพื่อการพาณิชย์ เป็นการผลิตเพื่อยังชีพ
โดยมีเป้าหมายเพื่อกินเพื่อใช้ เมื่อมีส่วนเกิดจึงนำออกขาย
และต้องกระจายการผลิตในครัวเรือนเพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มความมั่นคงแห่งชีวิต
1.2.3
พัฒนาบนพื้นฐานของวัฒนธรรมชุมชน
1.2.4
ให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาชาวบ้าน
1.2.5 รวมกลุ่มเพื่อจัดตั้งองค์กรชุมชนหรือองค์กรชาวบ้าน
เพื่อสร้างความเข้มแข็งและอำนาจต่อรองของภาคประชาชน
1.3
ปรับตัวตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 ค.ศ. 2002-2006 ที่นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
เป็นปรัชญานำทางที่มีจุดเน้นคือการดำเนินการในทางสายกลางให้ก้าวทันโลก
ความพอเพียงที่เน้นการผลิตและการบริโภคบนความพอประมาณและความมีเหตุผล
ความสมดุลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นการผลิตอย่างเป็นองค์รวม มีความสมดุลย์ระหว่างการแข่งขันจากกระแสโลกาภิวัฒน์
และกระแสท้องถิ่นนิยมมีความหลากหลายในโครงสร้างการผลิต
มีการใช้ทุนที่มีอยู่ในสังคมให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายวัฒนธรรมและภูมปัญญาที่ดี
มีภูมิคุ้มกันที่ดี รู้เท่าทันผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มีความยืดหยุ่นในการปรับตัว
และเสริมสร้างจิตใจให้เป็นคนดี มีคุณธรรม มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ สุจริต
มีสติปัญญา ความเพียร ความอดทน และรอบคอบ
1.4.1
การกำหนดสิทธิด้านการได้รับการศึกษาของประชาชน “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พ.ศ. 2540” มาตรา 43
ได้กำหนดสาระเกี่ยวกับการศึกษาว่า
บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี
ที่รัฐบาลจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
1.4.2
การออก “พระราชบัญญัติการศึกษาชาติ
พ.ศ. 2542” ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อปฏิรูปการศึกษา
โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่ผลิตคนให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ
ผลิตคนให้มีความรู้และมีทักษะเฉพาะด้าน ที่สำคัญคือ ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
ภาษาอังกฤษ ปฏิรูปวิธีการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ฝึกให้คิดเป็น
ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี คนเก่ง
และมีความสุข สามารถปรับตัวเข้ากับสังคม สิ่งแวดล้อม
รู้เท่าทันโลกและอยู่ได้อย่างมีความสุข
2.
การปรับตัวของไทยด้านเศรษฐกิจ กระแสโลกาภิวัฒน์อันเป็นผลมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ
ระเบียบทางด้านเศรษฐกิจที่เน้นเรื่องการค้าเสรี ทำให้ระบบเศรษฐกิจเชื่อมโยงกัน
การเคลื่อนย้ายการผลิต และการลงทุนข้ามชาติ
ทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่และมีความพร้อมในการแข่งขันสูงเข้ามาแข่งขันกับธุรกิจภายในประเทศ
ส่งผลให้ธุรกิจภายในประเทศที่มีทุนน้อยไม่สามารถแข่งขันได้
ปัจจุบันการแข่งขันทางการค้าได้ทวีความรุนแรง
ประเทศต่างๆ มีการกีดกันการค้าโดยใช้มาตรการต่าง
ๆ เช่น การกำหนดมาตรฐานสินค้า มาตรฐานแรงงาน การรวมกลุ่มเศรษฐกิจตามภูมิภาคต่างๆ ของโลกเพื่ออำนวยต่อรองและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสังคมไทยที่สำคัญ
คือ การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี ค.ศ. 1997
และลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจแห่งเอเชีย
วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยต้องปรับตัวทางด้านเศรษฐกิจ
ด้วยการปฏิรูปครั้งสำคัญ ทั้งด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ โดยการปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจเน้นการพัฒนาบนพื้นฐานการพึ่งตนเอง
และเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน การปรับตัวทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญมีดังนี้
2.1
การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การพัฒนา จากการพึ่งพิงต่างประเทศมาเป็นการพัฒนาที่เน้นการพึ่งตนเอง
โดยการนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง
ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
โดยมีหลักการพัฒนาทางความคิดดังนี้
เศรษฐกิจพอเพียง
หมายถึง เศรษฐกิจที่พึงตัวเองได้ ทั้งการพึ่งตนเองทางจิตใจ สังคม ทรัพยากร
เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ โดยมีฐานะการคิดในการพัฒนาเป็นลำดับ ดังนี้
1)
พัฒนาตามขั้นตอนทฤษฎีใหม่ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมี 3 ขั้นตอน ได้แก่
ขั้นที่ 1 การผลิตเพื่อบริโภคในครอบครัว ขั้นที่ 2 รวมกลุ่มเพื่อการผลิต การตลาด
สวัสดิการ และขั้นที่ 3 ร่วมมือกับองค์กรภายนอกในการทำธุรกิจและพัฒนาคุณภาพชิวิต โดยทุกฝ่ายได้รับประโยชน์
2)
สร้างพลังทางสังคม โดยประสานความร่วมมือทั้งภาครัฐ และเอกชน สื่อมวลชน
เพื่อขับเคลื่อนขบวนการพัฒนาธุรกิจชุมชน
3)
ยึดพื้นที่เป็นหลัก และใช้องค์กรชุมชนเป็นศูนย์กลาง
4)
ใช้กิจกรรมชุมชนเป็นเครื่องมือสร้างเครือข่ายความร่วมมือ
5)
เสริมสร้างการรวมกลุ่ม และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ
6) วิจัยและพัฒนาธุรกิจชุมชนครบวงจร
(ผลิต แปรรูป ขาย และบริโภค
7)
พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนที่มีศักยภาพสูงแต่ละเครือข่ายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ชุมชน
ปัจจุบัน
ได้มีการนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นทั่ว
ประเทศโดยเฉพาะในโครงการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลชุดปัจจุบันเพื่อแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนในชนบทและชุมชนเมือง ได้แก่ โครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ( One Tambon One Produet = OTOP )
2.2 การพัฒนาตามแนวทางการพัฒนาแบบยั่งยืน การพัฒนาแบบยั่งยืนเป็นแนวคิดที่ผสมผสานระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการ อนุรักษ์ทรัพยากรการพัฒนาแบบยั่งยืนจะมีความสัมพันธ์กันทั้งระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมปัจจุบันได้มีการนำแนวคิดการพัฒนาแบบยั่งยืนไปประยุกต์ใช้ในการ พัฒนาด้านต่าง ๆ เช่น การเกษตรแบบยั่งยืน การจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เป็นต้น
2.2 การพัฒนาตามแนวทางการพัฒนาแบบยั่งยืน การพัฒนาแบบยั่งยืนเป็นแนวคิดที่ผสมผสานระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการ อนุรักษ์ทรัพยากรการพัฒนาแบบยั่งยืนจะมีความสัมพันธ์กันทั้งระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมปัจจุบันได้มีการนำแนวคิดการพัฒนาแบบยั่งยืนไปประยุกต์ใช้ในการ พัฒนาด้านต่าง ๆ เช่น การเกษตรแบบยั่งยืน การจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เป็นต้น
2.3
เสริมสร้างความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มประเทศในเอเชีย
ในระดับที่กว้างขึ้น เช่น
แนวความคิดการจัดตั้งเวทีหารือสำหรับประเทศในทวีปเอเชียที่เรียกชื่อว่า Asia
Cooperation Dialogue : ACD
ซึ่งมีขอบข่ายครอบคลุมทวีปเอเชียทั้งทวีป อันได้แก่ สมาชิกกลุ่มอาเซียน จีน
ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ปากีสถาน กาตาร์ บาเรนห์
ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นการเสริมสร้างสมรรถนะและแก้ไขจุดอ่อนของแต่ละประเทศเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ
สังคม และเสถียรภาพความมั่นคง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ร่วมกันในเอเชียมากขึ้น
2.4
การปฏิรูปภาคธุรกิจเอกชนให้เกิดความเข้มแข็งและความสุจริต โดยการสร้างธรรมาภิบาลด้านเอกชนให้เกิดขึ้น ธรรมาภิบาล
(Good Governance) คือ
การบริหารจัดการที่ดีจะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดกับนักลงทุนชาวต่างชาติ หลักธรรมาภิบาลที่สำคัญคือ การบริหารมีความรับผิดชอบ
มีความโปร่งใส เสมอภาค และการมีส่วนร่วม ได้แก่ การรับรู้ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ
และร่วมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ
3.
การปรับตัวของไทยด้านการเมือง จากกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในยุคโลกาภิวัฒน์
ส่วนด้านการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง
การส่งเสริมการค้าเสรี การเคารพสิทธิของมนุษยชน การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม
สิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงบีบคั้นให้ประเทศไทยต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับกระแสโลกาภิวัฒน์การปรับตัวทางการเมืองที่สำคัญคือ การประกาศใช้ “รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540” และการปฏิรูประบบราชการ
ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
3.1
การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปี ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540)
ถือเป็นการปรับตัวทางการเมืองครั้งใหญ่
สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
การปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพ ประสิทธิภาพ และคุณภาพ
โดยกำหนดให้มีมาตรฐานทางคณะธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทางการเมือง
และเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อป้องกันการประพฤติมิชอบ
โดยการกำหนดให้มีองค์กรอิสระทำหน้าที่ควบคุม กำกับ และตรวจสอบ
การทำงานของนักการเมืองและข้าราชการประจำ ได้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
ศาลรัฐธรรมนูญ
ศาลปกครองและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
การกระจายอำนาจและส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีความเป็นอิสระในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
และสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้ท้องถิ่นบริหารงานบุคคลเก็บภาษีอากร มีอำนาจจัดการศึกษา
และบริหาร ด้านสาธารณสุข
ตลอดจนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในท้องถิ่น ข้อกำหนดว่าด้วยการรักษาสิ่งแวดล้อม
และสิทธิมนุษยชน
ที่จะใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมนับเป็นความก้าวหน้าอย่างยิ่งของสังคมไทย
3.2
การปฏิรูประบบราชการ
วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ในปี ค.ศ.
1997 เป็นผลมาจากการสะสบปัญหาต่างๆ
ที่มีมานานกว่า 30 ปี ปัญหาที่สำคัญประการหนึ่ง ได้แก่
ภาครัฐขาดความสามารถในการบริหารจัดการ และปรับตัวเองได้อย่างทันการ
จึงจำเป็นที่จะต้องปฏิรูประบบบริหารภาครัฐโดยปรับปรุงระบบราชการให้มีขนาดเล็กลงและมีประสิทธิภาพ
ปรับเปลี่ยนวิธีการบริหารให้มีลักษณะอย่างภาคเอกชน มุ่งเน้นประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหาร โดยใช้มาตรการต่างๆ
เช่นการปรับลดกำลังคนของภาครัฐ
การจัดกลุ่มภารกิจส่วนราชการ
การแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เอกชนดำเนินการแทน การพัฒนารูปแบบการดำเนินงานเป็นเครือข่าย
และร่วมมือกับภาคธุรกิจ เอกชนและประชาสังคมมากขึ้น ปรับรูปแบบบริหารจัดการภาครัฐใหม่
เน้นการทำงานโดยยึดผลลัพธ์เป็นหลัก มีการวัดผลลัพธ์และค่าใช้จ่ายอย่างเป็นรูปธรรม
ปรับเปลี่ยนระบบงบประมาณเป็นแบบมุ่งเน้นผลงานและผลลัพธ์
โดยเปลี่ยนกระบวนการงบประมาณจากควบคุมการใช้ทรัพยากรเป็นระบบงบประมาณที่มุ่งเน้นผลผลิตและผลลัพธ์ของงาน
เสริมสร้างระบบการทำงานอย่างเป็นระบบ
โดยการกำหนดเป้าหมายของการทำงานเป็นรูปธรรมโดยมีแผนกลยุทธ์ที่ชัดเจน
มีดัชนีวัดผลสัมฤทธิ์ของงานและสามารถประเมินผลงานได้
เน้นความรับผิดชอบของผู้บริหาร
รวมทั้งการปรับเปลี่ยนระบบการเงินและการพัสดุ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
โดยมีเป้าหมายที่สำคัญเพื่อประชาชนเป็นหลัก
เป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปการเมืองคือ เพื่อให้ได้มาซึ่งผู้นำที่มีคุณภาพ และประสิทธิภาพ
โดยการยอมรับของประชาชน
ทั้งนี้เพราะศักยภาพของการแข่งขันของไทยในอนาคตขึ้นอยู่กับระบบบริหารที่มีประสิทธิภาพ
มีคุณธรรม จริยธรรม ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ
|
|
พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร
|
ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย
|
บทสรุปบทที่ 5
ปรากฎการณ์โลกาภิวัตน์
อันเป็นผลมาจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและความก้าวหน้าด้านการคมนาคม การเปิดเสรีการค้า และการเมือง กระแสโลกาภิวัตน์มีผลกระทบทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่างๆ
รวมทั้งประเทศไทย ส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง นับตั้งแต่ปี ค.ศ.
1997 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
สถานการณ์ปัญหาต่างๆ
ที่เกิดขึ้นเป็นแรงผลักดันให้สังคมแสวงหาทางออกด้วยวิธีการต่างๆ
และได้มีนักคิด นักวิชาการต่างๆ ได้เสนอยุทธศาสตร์การพัฒนา เพื่อเผชิญวิกฤตโลกหลายยุทธศาสตร์ด้วยกัน เช่น ยุทธศาสตร์พุทธศาสนา
ยุทธศาสตร์เศรษฐศาสตร์การเมือง ยุทธศาสตร์วัฒนธรรมชุมชน
และยุทธศาสตร์เกษตรยั่งยืนและชุมชนเข้มแข็ง
เป็นต้น
เพื่อหาทางออกให้กับสังคมไทยในการกอบกู้วิกฤตของชาติด้านต่างๆ
ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ได้มีนักพัฒนาทั้งภาครัฐและเอกชนได้นำไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น
และที่สำคัญที่สุดคือเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำรึในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ซึ่งพัฒนาตามขั้นตอนทฤษฎีใหม่ของพระองค์
ซึ่งประกอบด้วย 3 ขั้น คือ
ขั้นที่ 1 ผลิตเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน ขั้นที่ 2
รวมกลุ่มเพื่อการผลิต การตลาด ความเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา สังคม และศาสนา ขั้นที่ 3
ร่วมมือกับองค์กรภายนอกในการทำธุรกิจ
และพัฒนาคุณภาพชีวิต
โดยทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9
ค.ศ. 2002 – 2006
ได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นปรัชญานำทาง โดยมียุทธศาสตร์การพัฒนา 3
ด้าน คือ
การสร้างรากฐานสังคมให้เข้มแข็ง ปรับตัวสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ รู้เท่าทันโลก
และปฏิรูประบบการจัดการสู่ธรรมาภิบาล ซึ่งยุทธศาสตร์ทั้ง
3 ด้าน เป็นการปรับตัวทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
ทั้งนี้โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ประเทศไทยอยู่ในสังคมโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรีมีความเสมอภาคกับนานาประเทศ และมีบทบาทในเวทีการเมืองของสังคมโลก
คำถามท้ายบทที่ 5
1.การปรับตัวของสังคมไทยในยุคสัญญาเบาร์ริ่ง
ทำให้เกิดผลดังนี้ (ตอบมาอย่างน้อย 3 ข้อ)
2.การดำเนินนโยบายของไทยในสงครามโลก ครั้งที่ 1 และ 2
มีละกษณะดังนี้ (ตอบมาอย่างน้อย 3
ข้อ)
3.ในยุคสงครามเย็นประเทศไทยวางตัวดังนี้ (ตอบมาอย่างน้อย 3 ข้อ)
4.ปัจจุบันไทยในสมัยรัฐบาล ฯพณฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
มีลักษณะดังนี้ (ตอบมาอย่างน้อย 3
ข้อ)
5.สังคมไทยในอุดมคติของท่านมีลักษณะใด (ตอบมาอย่างน้อย 3 ข้อ)