สังคมโลกยุคปัจจุบัน
ความนำ
สังคมโลกได้วิวัฒนาการสร้างสรรค์อารยธรรมและพัฒนาการขึ้นมาเป็นลำดับ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง สถานการณ์ทางการเมืองของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง
สหรัฐอเมริกาและสภาพโซเวียต
สองอภิมหาอำนาจมีบทบาทแทนที่อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี
ผลกระทบจากสงครามทำลายจิตใจของผู้คน เกิดความสูญเสียทั้งชีวิต ไร้ที่อยู่อาศัย
ความพิการซึ่งเป็นภาระที่รัฐบาลต้องเร่งฟื้นฟูบูรณะให้กลับคืนมา ธุรกิจการค้า
โรงงานอุตสาหกรรม เส้นทางคมนาคม ถูกทำลายอย่างย่อยยับ
ดินแดนที่เป็นสมรภูมิของสงครามประสบปัญหา ความอดอยาก ยากจน ขาดแคลนอาหาร
สภาพเศรษฐกิจใกล้จะล้มละลาย
องค์การสหประชาชาติจึงมีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือมนุษยชาติและรักษาสันติภาพของสัมคมโลก
เนื่องจากโลกได้แบ่งออกเป็นสองค่าย
ต่อสู้กันระหว่างการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำกลุ่มกับการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ที่มีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำกลุ่ม
เกิดการแข่งขันกันสร้างอิทธิพลในดินแดนต่าง ๆ อุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันทำให้สงครามเย็นอุบัติขึ้น
เกิดสงครามในภูมิภาคต่าง ๆ ขึ้นทั่วโลก ผู้คนต่างหวาดกลัวภัยสงคราม
มหาอำนาจแต่ละค่ายต่างแข่งขันกันผลิตอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรง
พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ สร้างขีปนาวุธเพื่อประหัตประหารฝ่ายตรงข้าม
ดินแดนที่เคยตกเป็นอาณานิคมได้ต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราช
ทั้งแบบสันติวิธีและแบบรุนแรงจับอาวุธขับไล่ชาติตะวันตก
เกิดการสู้รบในอินโดจีนอย่างรุนแรงโดยเฉพาะในเวียดนาม เป็นสงครามตัวแทนระหว่างสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกา
ภายหลังที่ประเทศอาณานิคมได้รับเอกราชมักมีปัญหาทางการปกครอง มีผลทำให้ทหารมีบทบาทกุมอำนาจการบริหารไว้ได้
แต่ปัญหาชนกลุ่มน้อยและปัญหาเชื้อชาติก็ยังคงดำรงอยู่เพื่อรอการแก้ไข เมื่อสหภาพโซเวียตปรับเปลี่ยนนโยบายการปกครองและเศรษฐกิจ
ส่งผลให้ประเทศล่มสลายลง สงครามเย็นจึงยุติลง
สังคมโลกยุคปัจจุบันมีความก้าวหน้าเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูงเป็นการปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ
เข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์
เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมการเมืองโลก มีผลทำให้ประเทศต่าง ๆ
ในโลกต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โลกที่กว้างใหญ่ดูเล็กลง
ดินแดนที่อยู่ห่างไกลสามารถติดต่อถึงกันภายในเสี้ยววินาที
ทุกคนก้าวสู่สังคมใหม่เป็นหนึ่งเดียว องค์การระหว่างประเทศจึงทวีความสำคัญยิ่งขึ้น
ดำเนินการเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
ประนีประนอมสร้างความสัมพันธ์ในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
เพื่อสันติภาพและความมั่นคงของสังคมโลก
ภาพเขียนสงคราม 30 ปี ค.ศ.1631
|
สังคมโลกยุคสงครามเย็น (Cold War)
สงครามเย็นเป็นลักษณะของความขัดแย้ง
เกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สืบเนื่องมาจากความแตกต่างด้านอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างสหรัฐอเมริกาผู้นำกลุ่มโลกเสรีกับสหภาพโซเวียตผู้นำกลุ่มโลกคอมมิวนิสต์ เป็นสาเหตุให้โลกแบ่งเป็น 2 ค่าย ต่างฝ่ายต่างพยายามต่อสู้แข่งขันเพื่อขยายอิทธิพล
แสวงหาความได้เปรียบในการสร้างอำนาจให้เหนือกว่าฝ่ายตรงข้ามให้มากที่สุดด้วยวิธีการต่าง
ๆ โดยไม่ทำสงครามเปิดเผยและไม่ใช้กำลังทหารต่อสู้กันโดยตรง ประเทศเล็ก ๆ
ต่างเข้าไปเป็นพันธมิตรของอภิมหาอำนาจแต่ละฝ่าย
ทำให้การเมืองระหว่างประเทศเกิดความตึงเครียด
1. สาเหตุของสงครามเย็น
1.1 ความขัดแย้งด้านอุดมการณ์
เมื่อสหภาพโซเวียตนำลัทธิคอมมิวนิสต์มาใช้บริหารประเทศ
ทำให้เกิดความหวาดระแวงในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ เพราะคอมมิวนิสต์มีเป้าหมาย มุ่งทำลายล้างทุนนิยมของอุดมการณ์ของกลุ่มเสรีประชาธิปไตย
1.2 ความขัดแย้งผลประโยชน์ของชาติ
สหภาพโซเวียตเน้นในด้านความมั่นคงปลอดภัยโดยเฉพาะพรมแดน
ด้านตะวันตกเป็นจุดอ่อนถูกศัตรูบุกรุกได้ง่าย สหภาพโซเวียตจึงดำเนินการสถาปนารูปแบบการปกครอง แบบคอมมิวนิสต์ในประเทศยุโรปตะวันออกซึ่งมีฐานะเป็นประเทศบริวารส่วนความขัดแย้งในด้านเศรษฐกิจ
เนื่องมาจากสหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
เป็นประเทศเจ้าหนี้ทุนนิยมที่ร่ำรวยที่สุด
หากปล่อยให้ลัทธิคอมมิวนิสต์ขยายตัว จะทำให้สหรัฐอเมริกาต้องสูญเสียหนี้สิน
แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และเกียรติภูมิของชาติ
1.3 เกิดช่องว่างแห่งอำนาจทางการเมือง
เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศ โดย อังกฤษ ฝรั่งเศส
เยอรมนี อิตาลี หมดอำนาจลง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแทนจึงเกิดเผชิญหน้ากัน
นิโคล เลนิน(Vladimir Ilych Ulyanov)
|
คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx)
|
2.วิธีการที่ใช้ในสงครามเย็น
2.1 การเผยแพร่และการโฆษณาชวนเชื่อ
แนวความคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมือง ด้วยวิธีปลูกฝัง ชักจูงให้เกิดความเชื่อในตัวบุคคลหรือกลุ่มบุคคล
โดยใช้คำพูด สิ่งตีพิมพ์ หรือสัญลักษณ์ ต่าง ๆ ดังเช่น
ฝ่ายเสรีประชาธิปไตยใช้สำนักแถลงข่าวสารอเมริกัน สถานีวิทยุเสียงอเมริกัน
ทำหน้าที่กระจายข่าวไปทั่วโลก โฆษณาการปกป้องสิทธิส่วนบุคคล
คุ้มกันสิทธิของชนกลุ่มน้อย ต้องการยกฐานะของบุคคลทั่วโลกให้สูงขึ้น
ส่วนฝ่ายคอมมิวนิสต์โฆษณายกย่องความเสมอภาคของระบอบคอมมิวนิสต์ สนใจสวัสดิภาพของคนทั่วโลก
เอาใจกลุ่มประเทศเป็นกลางโน้มน้าวให้หันมาสนับสนุนฝ่ายตน
2.2 การแข่งขันทางการทหาร
ทั้งสองฝ่ายต่างแข่งขันกันเสริมสร้างพัฒนาอาวุธแบบใหม่และกำลังทหารให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
สะสมอาวุธร้ายแรงไว้ในครอบครองให้มากที่สุด
โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาใช้วิธีการกลุ่มพันธมิตร เช่น จัดตั้งองค์การนาโต้ (NATO) องค์การสัญญาแอนซัส (ANZUS) ทั้งนี้เพื่อปิดล้อมคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคต่าง ๆ ส่วนสหภาพโซเวียตได้ให้การคุ้มครองอารักขาประเทศที่ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ด้วยวิธีการส่งอาวุธและกองกำลังทหารไปประจำในประเทศต่าง
ๆ ยุยงให้ประชาชนก่อการปฏิวัติสร้างสงครามกลางเมือง
ซึ่งอ้างว่าเป็นสงครามปลดแอกให้ประชาชน
2.3 การให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ
แต่ละฝ่ายต่างแข่งขันกันให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่มิตรประเทศของตน
โดยวิธีบริจาคเงินให้ ให้กู้ยืมเงิน ร่วมลงทุน ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค
ให้เงินทุนการศึกษา แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม
ให้สิทธิพิเศษทางการค้าโดยหวังว่าจะทำให้ตนได้พรรคพวกมากขึ้น
2.4 นโยบายทางการฑูต มหาอำนาจทั้งสองฝ่ายต่างพยายามใช้นโยบายทางการฑูตเป็น
เครื่องมือ เพื่อสร้างอิทธิพลเหนือประเทศอื่น
มีการจัดประชุมระดับผู้นำ ระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ ดังเช่น
การประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน เพื่อควบคุมปริมาณและราคาน้ำมัน
การประชุมตัวแทนนานาชาติเพื่อวางแผนสันติภาพ
โดยเฉพาะการประชุมในคณะมนตรีความมั่นคงขององค์การสหประชาชาติทั้งสองฝ่ายจะ
ใช้สิทธิยับยั้ง
(VETO) แสดงให้เห็นถึงความมีอำนาจในเวทีการเมืองระดับโลก
2.5 การแข่งขันทางวิทยาการและเทคโนโลยี
ซึ่งแต่ละฝ่ายพยายามแสดงออกถึงผลงานความสำเร็จก้าวหน้าของตน เช่น การคิดค้นพัฒนาขีปนาวุธ
การส่งดาวเทียมไปโคจรนอกโลก การสำรวจดวงจันทร์ ดาวอังคาร
สิ่งเหล่านี้ทำขึ้นเพื่อสร้างความศรัทธา ยำเกรงต่อความสามารถ
เป็นการสร้างเกียรติภูมิเพิ่มความนิยมให้กับฝ่ายตน
3. จุดเริ่มต้นของสงครามเย็น สหภาพโซเวียตเป็นฝ่ายเริ่มสงครามก่อน
โดยการขยายอิทธิพลและลัทธิคอมมิวนิสต์เข้าไปในยุโรปตะวันออก คือ โปแลนด์ ฮังการี
ยูโกสลาเวีย แอลเบเนีย บัลแกเรีย โรมาเนีย และเชโกสโลวะเกีย
ตกเป็นประเทศบริวาร สหภาพโซเวียตต้องการควบคุม
ช่องแคบ ดาร์ดะแนลล์ (The
Dardanelles) เป็นเส้นทางออกสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ดังนั้นจึงส่งกองทัพ เข้าคุกคามตุรกีและกรีซ ซึ่งอยู่ในอารักขาของอังกฤษ
อังกฤษได้ขอความช่วยเหลือไปยังสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีทรูแมนจึงประกาศหลักการทรูแมน (Truman
Doctrine) เพื่อแสดงเจตนารมณ์ให้ทราบว่า
สหรัฐอเมริกาจะให้ความช่วยเหลือประเทศเสรีทั้งหลายให้พ้นจากการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์
โดยจะให้ความช่วยเหลือทั้งเงินและกำลังทหาร สหภาพโซเวียตไม่พอใจจึงตอบโต้
โดยเรียกร้องให้ประเทศคอมมิวนิสต์ทั่วโลกร่วมมือกันต่อต้านการขยายอิทธิพลของจักรวรรดินิยมอเมริกาและทั้งพันธมิตร
สงครามเย็นจึงเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1947 เป็นต้นมา
4. ลักษณะความขัดแย้งในสงครามเย็น
นับแต่สงครามเย็นเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1947 การต่อสู้ได้ปรากฏออกมาหลายรูปแบบ
มีผลทำให้เกิดความหวาดระแวงต่อกันมากขึ้น สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต พยายามเข้าไปมีบทบาทในภูมิภาคต่าง ๆ
ของโลกเพื่อขยายอาณาเขตและรักษาอิทธิพลของตน มีผลทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันในดินแดนต่าง
ๆ ทั่วโลก ลักษณะความขัดแย้งมีความรุนแรงมากน้อย
แตกต่างกันไปตามสถานการณ์และสภาพแวดล้อมที่สำคัญ ได้แก่
4.1 การเผชิญหน้าในยุโรปตะวันออก
(ค.ศ. 1947-1949) หลังจากสภาพโซเวียต
ขยายอำนาจเข้าไปในตุรกีและกรีซ ได้เกิดการเผชิญหน้ากับสหรัฐอเมริกาซึ่งสหรัฐอเมริกาได้ประกาศหลักการทรูแมนขัดขวางคอมมิวนิสต์
เพื่อปกป้องไม่ให้ยุโรปตะวันตกต้องตกอยู่ใต้อิทธิพลของคอมมิวนิสต์
สหรัฐอเมริกาประกาศ ใช้แผนการมาร์แชล (Marshall
Plan) ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1947 เพื่อให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ทุกประเทศทั้งฝ่ายประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ที่มีปัญหาเศรษฐกิจเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่
2 สหภาพโซเวียตตอบโต้
โดยจัดตั้งองค์การโคมินฟอร์ม (Cominform) ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน
เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก
และขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ให้แพร่หลายไปทั่วโลก พร้อมกับประกาศแผนการโมโลตอฟ (Molotov Plan) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ประเทศคอมมิวนิสต์ในยุโรป
แต่ยูโกสลาเวียเข้ารับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาจึงถูกขับออกจากองค์การโคมินฟอร์ม สหภาพโซเวียตได้ก่อวิกฤตการณ์โดยปิดล้อมเบอร์ลิน ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1948 เพื่อตัดเส้นทางคมนาคมในเขตยึดครองของฝ่ายเสรีประชาธิปไตย
แต่สหรัฐอเมริกาแก้ไขได้ โดยจัดส่งเสบียงอาหาร และสัมภาระเข้าช่วยทางอากาศ
จากพฤติกรรมของสหภาพโซเวียตที่มุ่งขยายอิทธิพลเข้าไปในยุโรป
ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องจัดตั้งองค์การทหารแก่สมาชิก ในค่ายโลกเสรีสหภาพโซเวียต
ตอบโต้ด้วยการรวมกลุ่มพันธมิตรฝ่ายตนตั้งองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Treaty Organization) และจัดตั้งองค์การโคมีคอน (Comecon) เพื่อเข้าช่วยเหลือทางเศรษฐกิจตามแผนการโมโลตอฟ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส
ได้ร่วมมือกันสถาปนาเยอรมนีในเขตยึดครองเป็นประเทศสาธารณรัฐเยอรมนี (เยอรมนีตะวันตก) เพื่อสร้างเยอรมนีให้เข้มแข็งไว้ต่อต้านคอมมิวนิสต์
สหภาพโซเวียตได้สถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตย
เยอรมนี(เยอรมนีตะวันออก) ในเขตยึดครองของตนในเดือนตุลาคม 1949
ในปีเดียวกันสงครามเย็นในระยะแรกทั้งสองค่ายต่างป้องปรามซึ่งกันและกันด้วยยุทธวิธีทุกรูปแบบ
ทำให้การเมือง ระหว่างประเทศทวีความตึงเครียดสูงขึ้น ใน ค.ศ. 1960 สหภาพโซเวียตได้สร้างกำแพงปิดล้อมเบอร์ลิน
ตะวันตกเพื่อสกัดกั้นชาวเยอรมนีตะวันออก ไม่ให้หลบหนีเข้าเขตเบอร์ลินตะวันตก
กำแพงเบอร์ลินจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของสงครามเย็นในยุโรป
4.2 การขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชีย
(ค.ศ. 1949-1955) ลัทธิคอมมิวนิสต์ได้
ขยายตัวมายังจีนในระยะที่จีนมีปัญหาการเมืองภายในประเทศอันเกิดการเปลี่ยน
แปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นสาธารณรัฐ
เกิดปัญหาเศรษฐกิจซุนยัดเซ็นต้องยอมรับความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียต
พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงเกิดขึ้น
เมื่อเหมาเจ๋อตุงขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคในระยะต่อมาได้เกิดการขัดแย้งกับเจียงไคเช็คเป็นเหตุให้เกิดสงครามกลางเมือง
เหมาเจ๋อตุงใช้ยุทธวิธีการรบแบบใหม่ให้ชาวนาในชนบทเป็นฐานการต่อสู้กับรัฐบาล
จนมีชัยชนะสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1949 เจียงไคเช็คได้อพยพไปอยู่ใต้หวันจัดตั้งรัฐบาลจีนคณะชาติ
สาธารณรัฐประชาชนจีนเริ่มวางแผนปฏิวัติโลกตามอุดมการณ์ลัทธิมาร์กซ์ เลนิน
สนับสนุนขบวนการปลดแอกในพื้นที่ต่าง ๆ
ทำให้ภูมิภาคเอเชียเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นหลายแห่งเช่นวิกฤตการณ์ในเกาหลีเกิดขึ้นเมื่อเกาหลีถูกแบ่งออกเป็น
2 ประเทศ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง โดยสหรัฐอเมริกาจัดตั้งสาธารณรัฐเกาหลีในเขตยึดครองของตน
ส่วนสหภาพโซเวียตตอบโต้โดยจัดตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเกาหลี
แล้วสนับสนุนให้เกาหลีเหนือบุกเกาหลีใต้ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1950 สหรัฐ
อเมริกาเข้าช่วยเหลือเกาหลีใต้และขอความช่วยเหลือไปยังสหประชาชาติกองทัพสห
ประชาชาติได้เข้าช่วยเหลือเกาหลีใต้ซ้ำยังได้รุกล้ำพรมแดนจีน
ทำให้จีนเข้าช่วยเกาหลีเหนือ ในที่สุดมหาอำนาจทั้งสองสามารถเจรจาหยุดยิง ใน
ค.ศ. 1953 ส่งผลให้เกาหลียังคงแบ่งเป็น
2 ประเทศ
จีนกลายเป็นผู้นำในการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์อีกประเทศหนึ่ง
สหรัฐอเมริกาได้นำนโยบายปิดล้อมมาใช้สกัดกั้นการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคแปซิฟิก
โดยการทำสนธิสัญญาแอนซัส (ANZUS) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา
สงครามเย็นได้ขยายเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อมีสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหภาพโซเวียตเข้ามามีบทบาทให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศต่าง
ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอินโดจีนเป็นเขตที่เกิดสงครามเย็นรุนแรงมาก
อินโดจีนประกอบด้วย ลาว กัมพูชา เวียดนาม เป็นเขตอาณานิคมของฝรั่งเศส
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่น
ให้เอกราชอินโดจีน
เมื่อสงครามสิ้นสุดลงฝรั่งเศสกลับมาปกครองอินโดจีนอีก
ทำให้เวียดนามประกาศเอกราชจึงเกิดการสู้รบกันขึ้นโดยมีสาธารณรัฐอเมริกาหวาด
กลัวภัยจากจีนมากได้นำนโยบายปิดล้อมคอมมิวนิสต์มาใช้ในเอเชีย
โดยการจัดรวมกลุ่มพันธมิตรร่วมป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) ใน ค.ศ. 1954 เพื่อสกัดกั้นคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยมีสำนักงานอยู่ที่กรุงเทพฯ
4.3 การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ (ค.ศ. 1955-1973) ความขัดแย้งของสงครามเย็นลดความรุนแรงลงเพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสหภาพโซเวียต เมื่อครุสชอฟขึ้นมาเป็นผู้นำต่อจากสตาลินได้ประกาศใช้นโยบายอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับกลุ่มเสรีประชาธิปไตย
โดยยึดหลักความเสมอภาคและแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกัน
เคารพในบูรณภาพและอธิปไตยของชาติอื่น แต่สหรัฐอเมริกาไม่ไว้วางใจถือโอกาสแสวงหาพันธมิตรในตะวันออกกลาง
โดยจัดตั้งสนธิสัญญาเซ็นโต (CENTO) ต่อต้านการขยายอิทธิพลของคอมมิวนิสต์
เมื่อสหภาพโซเวียตไม่สามารถขยายอิทธิพลในยุโรปได้จึงต้องขยายไปยังทวีปอเมริกา
ทำให้ฟิเดล คัสโตร
ผู้นำคิวบายอมอยู่ใต้อิทธิพลของคอมมิวนิสต์ใน ค.ศ. 1962 สหภาพโซเวียตติดตั้งขีปนาวุธในคิวบา
สหรัฐอเมริกาประท้วงให้รื้อถอน ในที่สุดสหภาพโซเวียตต้องปฏิบัติตาม
เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้บทบาทของประธานาธิบดี จอห์น เอฟ.เคนเนดี้ โดดเด่นมาก
4.4 การผ่อนคลายความตึงเครียด (ค.ศ. 1973-1990) เป็นระยะลดการเผชิญหน้าเสริมสร้างบรรยากาศประนีประนอมกันมากขึ้น
มหาอำนาจต่างยินยอมแก้ไขข้อขัดแย้ง และข้อพิพาทต่าง ๆ อย่างสันติ
มีการพบปะผู้นำทั้งสองฝ่ายหลายครั้ง
เพื่อเจรจาขจัดปัญหาความขัดแย้งที่มีอยู่ให้ลดลงหรือหมดไป
มีผลทำให้เกิดข้อตกลงต่าง ๆ เกิดการเจรจาลงอาวุธยุทธศาสตร์
จำกัดขีปนาวุธพิสัยใกล้และไกลลง ลงนามสนธิสัญญาทำลายอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง
สหรัฐอเมริกาเปิดสัมพันธ์ทางการฑูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน
ยินยอมให้จีนเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติและเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง
เกิดการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีนและยินยอมให้มีการเปิดโอกาสถอนทหารเวียดนามออกจากกัมพูชา
และหาวิธีการเพื่อให้เกิดสันติภาพในกัมพูชา
จากลักษณะความร่วมมือของมหาอำนาจเพื่อให้เกิดสันติภาพ
แนวโน้มการยุติสงครามเย็นจึงมีความเป็นไปได้สูง
4.5 ระยะแห่งการสิ้นสุดสงครามเย็น
(ช่วงทศวรรษที่ 1990) เมื่อสหภาพโซเวียตปฏิรูปประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลง นับตั้งแต่นายมิคาอิล กอร์บาชอฟขึ้นมาเป็นผู้นำได้ประกาศแนวนโยบายกลาสนอต (Glasnost) และเปเรสทรอยก้า (Perestroika)
โดยเปิดประเทศเข้าสู่ระบบเสรี
ปรับเศรษฐกิจให้เอกชนเข้าไปประกอบธุรกิจ
การผลิตและการขายให้เป็นไปตามหลักการเสนอและสนองปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น
เปิดโอกาสให้มีเสรีภาพในการรับข่าวสารข้อมูล ลดกำลังทหารและกองกำลังภายนอกประเทศ
ถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานและประเทศในยุโรปตะวันออก การปรับเปลี่ยนนโยบายดังกล่าว
ทำให้เกิดความไม่พอใจในกลุ่มผู้นำคอมมิวนิสต์หัวเก่าจนเกิดการปฏิวัติขึ้น
แต่ล้มเหลวทำให้พรรคคอมมิวนิสต์หมดอำนาจ ส่งผลทำให้แลตเวีย เอสโตเนีย ลิทัวเนีย
ซึ่งเป็นรัฐทางทะเลบอลติกประกาศเอกราช
ไม่ยอมอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียตต่อมารัฐต่าง
ๆ แยกตัวเป็นอิสระปกครองของตนเอง มีผลทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลายลง
ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1991 ส่วนสาธารณรัฐรัสเซียภายใต้การนำของ นายบอริส
เยลท์ซิน ได้เปลี่ยนการปกครองเป็นแบบประชาธิปไตย
ประเทศบริวารของสหภาพโซเวียตในยุโรปตะวันออกเกิดการเปลี่ยนแปลงต่างแยกตัวเป็นอิสระ
หลายประเทศปรับเปลี่ยนการปกครองมาเป็นแบบประชาธิปไตยจากการล่มสลายของคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก
ส่งผลทำให้มีการสลายตัวขององค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ องค์การโคมีคอน
เมื่อเยอรมนีตะวันออกเปลี่ยนตัวผู้นำ ได้ทุบทำลายกำแพงเบอร์ลิน ใน ค.ศ. 1989 นับเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดสงครามเย็น
และการละเมิดสิทธิมนุษยชนถูกทำลายลง มีผลทำให้ประชาชนของเยอรมนี ทั้งสองประเทศ
เดินทางเข้าออกได้อย่างอิสระ
นำไปสู่การรวมประเทศเยอรมนีภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย ใน ค.ศ. 1990
|
|
กำแพงเบอร์ลินสัญลักษณ์ของสงครามเย็น
และการละเมิดสิทธิมนุษยชนถูกทำลายลงเมื่อเดือน พฤศจิกายน ค.ศ.1989
|
5. สภาวการณ์ของสังคมโลกหลังสงครามเย็น
ความเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกเกิดขึ้น เมื่อเกิดการล่มสลายของสหภาพโซเวียต สงครามเย็นได้ยุติลงก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญต่อสังคมโลก
ดังนี้
5.1 สหรัฐอเมริกามีบทบาทเด่นชัดเป็นประเทศอภิมหาอำนาจชาติเดียว
ศูนย์กลางใหม่ของโลกยุคโลกาภิวัตน์อยู่ที่สหรัฐอเมริกาเห็นได้จากการประกาศใช้ระเบียบโลกใหม่
(New World Order) ซึ่งมีแนวทางสำคัญคือ การปกครองประชาธิปไตย
เศรษฐกิจระบบเสรี การเคารพสิทธิมนุษยชนและการรักษาสิ่งแวดล้อม
โดยให้ประเทศในสังคมโลกต้องปฏิบัติตามกฏบัตรสหประชาชาติและกรอบของการเมืองระหว่างประเทศ
ประเทศใดไม่ปฏิบัติตามจะถูกมาตรการบังคับหลายวิธีการ เช่น มาตรการทางการค้า
การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ การใช้กำลังทหารบังคับ
นโยบายการจัดระเบียบโลกใหม่ถูกนำมาใช้ในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก เช่น
การแก้ไขปัญหาสันติภาพในตะวันออกกลางแต่การกระทำของสหรัฐอเมริกาสร้างความไม่พอใจให้กับประเทศต่าง
ๆ เพราะเห็นว่าเป็นเจตนาที่จะเข้าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศ มีผลทำให้เกิดการต่อต้านสหรัฐอเมริกาขึ้นในภูมิภาคต่าง
ๆ โดยเฉพาะการทำหน้าเสมือนกับเป็นตำรวจโลก
ใช้กองกำลังแก้ปัญหาความขัดแย้ง กรณีความที่อิรักกับคูเวต
เนื่องจากการแย่งแหล่งน้ำมัน สหรัฐอเมริกาอาศัยข้อมติของสหประชาติทำสงครามชนะอิรัก
ความขัดแย้งต้านการนับถือศาสนาในโคโซโว ซึ่งเป็นรัฐหนึ่งของยูโกสลาเวีย
สหรัฐอเมริกาใช้กำลังทางอากาศถล่มจนยูโกสลาเวียต้องถอนทหารจากโคโซโว
และเมื่อเกิดเหตุการณ์การก่อวินาศกรรมถล่มตึกเวิร์ลเทรด
ในวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 ซึ่งสหรัฐอเมริกาเชื่อว่าเป็นการกระทำของกลุ่มผู้ก่อการร้าย
อัลเคด้า (Al
Qaeda) รัฐบาลตาลิบันของอัฟกานิสถานให้การสนับสนุนทั้งเปิดค่ายฝึกและให้ที่พักพิง
สหรัฐอเมริกาจึงอาศัยข้อมติของสหประชาชาติทำสงครามกับอัฟกานิสถานจนมีชัยชนะแต่ก็ยังไม่สามารถจับอุสมาบินลาเด็น (Osama Bin Ladan)
มาพิจารณาลงโทษได้
|
|
จอร์จ ดับเบิลยู บูช
|
อุสมา บินลาเด็น
|
5.2 การแข่งขันทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ
หลังสงครามเย็น
มีการจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ทางการค้า
การแข่งขันด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อาจทำให้เกิดการแย่งชิงกันครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ
ดังเช่น การอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ในทะเลจีนใต้
ซึ่งเป็นเกาะที่มีทรัพยากรน้ำมันเป็นการแย่งชิงระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีน
ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ความขัดแย้งระหว่างไทยกับพม่า แย่งชิงการจับปลาในทะเลอันดามัน
ส่วนการแข่งขันแย่งตลาดในภูมิภาคก็เป็นสาเหตุของความขัดแย้ง เช่นกัน
ดังเช่นสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่นแย่งตลาดสินค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ซึ่งประเทศมหาอำนาจก็มีมาตรการพิทักษ์ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนเพิ่มมากขึ้น
มีการปกป้องตลาดภายในเพื่อป้องกันการไหลเข้าของสินค้าประเทศ อย่างเช่น
สหรัฐอเมริกาประกาศใช้นโยบายสิทธิมนุษยชน มาตรการคว่ำบาตร มาตรการทางการค้า
มาตรฐานสิ่งแวดล้อม
5.3 การเปลี่ยนแปลงอำนาจในโลกและในภูมิภาค
ประเทศต่าง ๆ ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์เปลี่ยนไป
โดยเฉพาะญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ
อุตสาหกรรมได้เข้ามามีบทบาทและมีอิทธิพลทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น ดังเช่น
เมื่อเกิดการตกต่ำทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ญี่ปุ่นมีบทบาทในการช่วยฟื้นฟูหลายรูปแบบที่สำคัญได้แก่ โครงการมิยาซาวา
สาธารณรัฐประชาชนจีนก็เช่นเดียวกันได้ปรับความสัมพันธ์กับรัสเซียยุติ
ความแตกร้าวที่มีมากกว่า 30 ปี
และยังได้ปรับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาพยายยามลดความขัดแย้ง
และแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกัน ประธานาธิบดีจอร์จ
ดับเบิ้ลยู บุช ไปเยือนจีน ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2002 ได้ตกลงร่วมกันปราบปรามผู้ก่อการร้ายระหว่างประเทศ
สาธารณรัฐประชาชนจีนและกลุ่มประเทศอิสลามจึงเป็นกลุ่มการเมืองใหม่ที่คาดว่าจะมีบทบาทสูงขึ้นในเวทีโลกในอนาคต
5.4 กระแสชาตินิยมใหม่
ส่วนใหญ่จะเกิดในประเทศที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์
ในดินแดนอดีตสหภาพโซเวียตและยูโกสลาเวีย
สืบเนื่องมาจากความแตกต่างทางพื้นฐานวัฒนธรรมทั้งทางด้านชาติพันธุ์และศาสนา
ทำให้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นกับรัฐบาลกลางทวีความรุนแรงขึ้น
และเป็นตัวกระตุ้นปลุกเร้าให้เกิดความรู้สึกชาตินิยมรุนแรงมากขึ้น
ซึ่งยังคงเป็นปัญหายืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน ดังตัวอย่างความยขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติรัสเซียกับชนกลุ่มน้อย
ชาวเชชเนียในประเทศรัสเซีย
ความขัดแย้งระหว่างบอสเนียมุสลิม กับบอสเนียเซิร์บคริสเตียน
ความขัดแย้งระหว่างโครแอทกับเซิร์บ ความขัดแย้งระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจัน ความขัดแย้งระหว่างเผ่าฮูตูกับเผ่าตุดซีในประเทศรวันดา
ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อยเผ่าต่าง ๆ
ความขัดแย้งของกระแสชาตินิยมใหม่ได้กลายเป็นสงครามในท้องถิ่นในภูมิภาคต่าง ๆ
ของโลก
โลกหลังสงครามเย็นเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง
ระบบทุนนิยมเข้าไปมีอิทธิพลต่อชีวิตแทบทุกส่วนของโลก
ประชาคมโลกซึมซับค่านิยมตะวันตก การตื่นตัวของค่านิยมเสรีภาพ
และประชาธิปไตยก่อให้เกิดการล้มล้างระบบอำนาจนิยมในดินแดนต่าง ๆ
ทำให้ผู้นำพลเรือนกลับเข้ามามีอำนาจในหลายประเทศ
เกิดปรากฏการณ์บริษัทข้ามชาติทั่วทั้งโลกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน นั่นคือกระแสโลกาภิวัตน์ ก่อให้เกิดเครือข่ายเชื่อมโยงถึงกันทุกด้าน
ส่วนในรัสเซียเองหลังจากรัฐเล็กรัฐน้อย
ได้แยกออกมาเป็นอิสระแล้ว
สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของรัสเซียเองมีแนวโน้มว่าดีขึ้นเรื่อย ๆ
ต่างชาติได้เข้าไปลงทุนมากมาย ความเป็นอยู่ของชาวรัสเซียมีลักษณะสังคมนิยมอ่อน ๆ
มีเสรีภาพมากขึ้น
สังคมโลกยุคโลกาภิวัตน์
ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงในทุกมิติทั้งทางสังคม
เศรษฐกิจ การเมืองและเทคโนโลยี อันเป็นผลมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ
และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจเมืองโลก มีผลทำให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
และมีความเชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้น
โลกที่เคยกว้างใหญ่กลับเล็กลงดินแดนแต่ละประเทศที่อยู่ห่างไกลกัน
สามารถติดต่อกันได้ภายในเวลาเสี้ยววินาทีประดุจเป็นหมู่บ้านเดียวกัน (Global Village) ภูเขาและทะเลซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติที่เคยเป็นอุปสรรคในการติดต่อไปมาหาสู่ดูเสมือนเลือนหายไปจนกลายเป็นโลกไร้พรมแดน
นับจากนี้ต่อไปโลกกำลังก้าวเข้าสู่ระยะแห่งการเปลี่ยนยุคเปลี่ยนสมัย
การเปลี่ยนผ่านที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ของประวัติศาสตร์โลกในยุคโลกาภิวัตน์
1. ความหมายของโลกาภิวัตน์
โลกาภิวัตน์ หมายถึง การแพร่กระจายเชื่อมโยงถึงกันทั่วโลกของข้อมูลข่าวสาร
ประชาคมโลกไม่ว่าจะอยู่ส่วนใด
สามารถรับรู้และรับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
อันสืบเนื่องมาจากการพัฒนาระบบสารสนเทศ การสื่อสารคมนาคมที่รวดเร็ว
สังคมยุคโลกาภิวัตน์ จึงเป็นสังคมยุคข้อมูลข่าวสารที่ไร้พรมแดน
อันเป็นยุคที่มีการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและการคมนาคม
เชื่อมโยงประเทศต่าง ๆ ให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ทำให้โลกกลายเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ
กระแสโลกทั้งในรูปของทุน
ข้อมูลข่าวสารค่านิยมและวัฒนธรรมบางอย่างได้แผ่กระจายครอบคลุมไปทั่วโลก อันนำไปสู่การวิวัฒน์ของระบบโลก
ดังนั้นสังคมโลกยุคโลกาภิวัตน์จึงเป็นโลกที่มนุษย์สามารถข้ามพรมแดนของประเทศสามารถเชื่อมโยงและทะลุกาลเวลาได้อย่างรวดเร็ว
โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารในลักษณะที่ไร้พรมแดน
2. ความเป็นมาของโลกาภิวัตน์
โลกาภิวัตน์และโลกที่ไร้พรมแดน
เกิดขึ้นมานานนับศตวรรษ การเข้าใจพัฒนาการ ทางประวัติศาสตร์ของระบบโลกที่ผ่านมา
ต้องทำความเข้าใจทฤษฎีคลื่นแห่งศตวรรษ
ระบบโลกแต่ละช่วงจะมีปรากฏการณ์ของลูกคลื่นขึ้นและลง ขยายตัวและหดตัว
ระยะการแปรเปลี่ยนไปของคลื่นแต่ละลูกใช้เวลาประมาณ 50
ปี
อันนำไปสู่การปรับเปลี่ยนในระบบโลก
ก่อให้เกิดการรื้อทิ้งระบบและระเบียบเก่าสร้างระบบและระเบียบโลกใหม่
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งจะส่งผลกระทบต่อโลกอย่างรุนแรงและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจใหม่ขึ้นในโลก
ซึ่งนับตั้งแต่เกิดระบบโลก อัลวิน ทอฟฟเลอร์
(Alvin Toffler) นักวิชาการชาวอเมริกาเสนอทิศทางการเปลี่ยนแปลงโดยคลื่นลูกใหญ่
3 ครั้ง
2.1 คลื่นลูกที่หนึ่ง
เกิดจากการปฏิวัติเกษตรกรรม
เมื่อมนุษย์รู้จักวิธีการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นชุมชนหมู่บ้านไม่เร่ร่อนแบบเดิม
ต่อมาได้เกิดการปฏิวัติทางเทคโนโลยีทางเรือและอาวุธสงคราม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือปืนและปืนใหญ่
การปฏิวัติที่เป็นผลเนื่องจากสงครามทางการค้าและการขยายตัวของเศรษฐกิจ
สินค้าและบริการ ที่เริ่มขยายตัวขึ้นในยุโรปตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 13 ถึงศตวรรษที่ 15-16 เป็นช่วงของการขยายตัวของคลื่นลูกที่หนึ่ง
ติดตามด้วยการค้นพบโลกใหม่ การล่าเมืองขึ้น
การขยายตัวของระบบตลาดโลกได้เริ่มก่อตัวขึ้น
และในที่สุดคลื่นลูกนี้ก็ก้าวเข้าสู่ระยะวิกฤตในศตวรรษที่ 17 คลื่นลูกที่หนึ่งได้ก่อให้เกิดเครือข่ายอำนาจครอบโลก
ศูนย์กลางของระบบคือยุโรป โดยมี สเปน ฮอลลันดา
และโปรตุเกส
เป็นศูนย์กลางระบบความสัมพันธ์ครอบโลกที่เกิดจากการที่ยุโรปเริ่มขยายอาณานิคมเข้าไปครอบงำทวีปอเมริกาและแอฟริกา ยึดครองประเทศเหล่านี้ด้วยกำลัง
และใช้กำลังบังคับกวาดต้อนผู้คน ในประเทศอาณานิคมมาใช้แรงงานอย่างทาส
2.2 คลื่นลูกที่สอง
เริ่มต้นการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากวิกฤตในศตวรรษที่ 17 เกิดขึ้นพร้อมกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมทอผ้า
เครื่องจักรไอน้ำขยายตัวในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตที่ใช้เครื่องจักร
เครื่องผ่อนแรง แทนการผลิตด้วยแรงงานคนและสัตว์ ซึ่งในที่สุดก็เกิดวิกฤตจุดรุนแรงที่สุดก็คือสงครามโลกครั้งที่
1 และครั้งที่ 2 คลื่นลูกที่สองได้นำไปสู่การก่อเกิดขึ้นของระบบความสัมพันธ์ครอบโลกแบบอาณานิคมและทุนนิยมโลกทั้งโลกได้ถูกผนึกเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน
มีระบบการแบ่งงานกันทำในขอบเขตทั่วโลก โดยมีอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นศูนย์ของระบบอาณานิคมโลก
2.3 คลื่นลูกที่สาม
เป็นสังคมแห่งเทคโนโลยีระดับสูง
เป็นคลื่นลูกใหม่แทนคลื่นลูกเก่าซึ่งกำลังมีอิทธิพลต่อสังคมมนุษย์ยุคปัจจุบัน
เริ่มด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรมเหล็กกล้า รถยนต์รวมทั้งเครื่องบิน
ซึ่งขยายตัวเต็มที่ในช่วงปี ค.ศ. 1950-1970 และนับจากนั้นเศรษฐกิจโลกได้เริ่มเข้าสู่
วิกฤตน้ำมัน วิกฤตค่าเงินดอลล่าร์
และวิกฤตระบบสังคมนิยม ตามมาด้วยการปฏิวัติระบบอิเล็กทรอนิกส์
คอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศ
คลื่นลูกที่สามได้วางอยู่บนระเบียบเครือข่ายครอบโลกแบบพึ่งพา
หลังจากการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นได้รับอิสรภาพทางการเมือง
แต่ยังคงตกอยู่ในฐานะที่ต้องพึ่งพาและขึ้นต่อประเทศศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม
ในยุคนี้ระบบโลกได้แบ่งตัวเองออกเป็น 2 ค่าย คือ ค่ายทุนนิยม และค่ายสังคมนิยม
และรอยต่อแห่งการเปลี่ยนแปลงมาพร้อมกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 นั่นคือคอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศ
ซึ่งได้ก่อให้เกิดระบบความสัมพันธ์ใหม่ที่เรียกว่า
ยุคเครือข่ายครอบโลกแบบไร้พรมแดน
3. ลักษณะสำคัญของสังคมโลกยุคโลกาภิวัตน์ สังคมโลกยุคโลกาภิวัตน์ มีลักษณะสำคัญหลายประการ
สรุปได้ดังนี้
3.1 การใช้คอมพิวเตอร์เป็นกลไกสำคัญ
ในสังคมโลกาภิวัตน์
คอมพิวเตอร์มีบทบาทสำคัญมากเพราะเป็นเครื่องมือที่จะรับและแปลงข้อมูลได้
อย่างรวดเร็วและไม่ค่อยมีข้อจำกัด
คอมพิวเตอร์ได้ถูกนำมาใช้ในการจัดเก็บ บันทึกข้อมูล จัดระบบข้อมูล
และนำมาใช้สื่อสารถึงกันในเวลาอันรวดเร็วทุกมุมโลก
ในระยะไม่กี่ปีมานี้ได้มีการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ไปอย่างมาก
จากเครื่องที่มีขนาดใหญ่ ราคาแพง
เป็นระบบคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่มีขนาดเล็กแต่มีคุณภาพและศักยภาพสูงมากและ
ราคาถูกลงเครื่องคอมพิวเตอร์จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการแพร่ข้อมูลข่าวสาร
ในยุคโลกาภิวัตน์
3.2 การไหลบ่าของข้อมูลข่าวสาร
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจและสังคมเจริญก้าวหน้า
เศรษฐกิจที่เจริญก้าวหน้าทำให้โลกตะวันตกมั่งคั่งร่ำรวย
ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดเป็นแรงกระตุ้นให้มีการวิจัยและพัฒนา
เพื่อศึกษาค้นหาข่าวสารที่เป็นประโยชน์อย่างไม่หยุดยั้ง สถาบันการศึกษาต่าง ๆ
ก็ทำหน้าที่ค้นคว้าวิจัยเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น
เทคโนโลยีสื่อสารอันทันสมัยก็มีส่วนช่วยให้เกิดการเปลี่ยน ถ่ายทอดข้อมูลใหม่ ๆ
หมุนเวียนอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า
การไหลบ่าของข่าวสาร ข้อมูล
3.3 การ
เพิ่มขึ้นของแรงงานด้านข่าวสาร
จำนวนแรงงานที่ทำงานเกี่ยวกับข่าวสารข้อมูลมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
แรงงานเหล่านี้ได้แก่ผู้ที่อยู่ในวงการศึกษา การคมนาคม การพิมพ์
การโฆษณาประชาสัมพันธ์ สื่อสารมวลชนทุกประเภท การเงิน การบัญชี
รวมทั้งอุตสาหกรรมผลิตคอมพิวเตอร์หรือชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และงานที่เกี่ยว
กับการนำเทคโนโลยีมาจัดการกับข่าวสารทุกชนิด
กล่าวกันว่าปัจจุบันในอเมริกามีแรงงานที่ทำงานด้านข่าวสารมากกว่า ร้อยละ 50 ในขณะที่แรงงานเกษตรและอุตสาหกรรมลดลงมากกว่าร้อยละ 25
3.4 บทบาทและความสำคัญของสถาบันวิจัยและพัฒนา
เนื่องจากสังคมเจริญรวดเร็วมากและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
การแสวงหาความรู้และค้นหาคำตอบรวมทั้งการคาดหมายล่วงหน้าจึงมีความสำคัญยิ่ง
การวิจัยและพัฒนากลายเป็นกลไกสำคัญในการแสวงหาข้อมูล
ข่าวสารหรือความรู้ใหม่เพื่อประโยชน์ต่อการวางแผนและติดสินใจของนักธุรกิจ
และนักบริหารทั้งหลายประเทศที่เจริญทั้งหลายจึงมักให้ความสำคัญแก่การวิจัย
และพัฒนา
และมีการสนับสนุนหรือให้ทุนแก่สถาบันวิจัยและพัฒนา
3.5 ระบบเศรษฐกิจประสานเป็นหนึ่งเดียว
เศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์
เป็นเศรษฐกิจที่จะมีการประสานเศรษฐกิจเป็นหนึ่งเดียว
ทำให้พรมแดนแต่ละประเทศไม่อาจขวางกั้นพลังทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ระบบเศรษฐกิจยังได้เปลี่ยนแปลงรากฐานจากระบบอุตสาหกรรม
มาเป็นระบบเศรษฐกิจแบบฐานข่าวสาร (Information
based economy) ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรง กับกระบวนการผลิตจัดการและเผยแพร่ข่าวสาร
ข่าวสารกลายเป็นสินค้าประเภทหนึ่ง ตัวอย่าง ธุรกิจชนิดนี้ เช่น การผลิตคอมพิวเตอร์
เครื่องโทรคมนาคม วิทยุ โทรทัศน์ การพิมพ์ โทรศัพท์ หนังสือ วารสาร เป็นต้น
ข่าวสารกลายเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นทรัพยากรที่สำคัญ
ผู้ต้องการใช้ข่าวสารต้องเสียค่าใช้จ่าย ข่าวสารกลายเป็นแหล่งลงทุน
และเป็นบ่อเกิดของการว่าจ้างแรงงาน
3.6 ชุมชนมนุษย์มีความใกล้ชิดกัน
เทคโนโลยีข่าวสารทำให้มนุษย์ซึ่งอยู่ห่างไกลกันเป็นพัน ๆ ไมล์
หรืออยู่กันคนละมุมโลก สามารถติดต่อสื่อสารพูดคุยกันได้
มนุษย์ในยุคนี้สามารถรับรู้ข่าวสาร เหตุการณ์ทุกชนิดที่เกิดขึ้นในดินแดนห่างไกลออกไป
ทำให้มีโลกทัศน์กว้างขึ้นและมีผลต่อแนวคิดเกี่ยวกับ ชุมชน หมู่บ้าน
ประเทศที่เปลี่ยนไปเป็นโลก มนุษย์ทุกคนย่อมตระหนักดีว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ
จุดใดจุดหนึ่งของโลกอาจมีผลกระทบต่อโลกทั้งโลกหรือมนุษย์ทั้งโลกได้ มนุษย์ในยุคนี้จะเกิดความรู้สึก
ในฐานะประชากรของโลกขึ้นมาแทนที่ความรู้สึกเกี่ยวกับรัฐ
หรือชาติของตนเหมือนแต่เดิม อย่างไรก็ตาม แม้กระแสของข่าวสารจะมีมากเพียงใด
โอกาสในการรับรู้ข่าวสารก็อาจไม่เท่าเทียมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานะ
ความเป็นอยู่ของมนุษย์ด้วย
3.7 พฤติกรรมของนักการเมืองเกิดความเปลี่ยนแปลง
ในยุคโลกาภิวัตน์
เทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับระบบการเมืองมากขึ้น
ประชาชนมีโอกาสติดตามความเคลื่อนไหวของนักการเมือง
และผู้แทนที่เลือกเข้าไปทำหน้าที่แทนตนในสภาโดยผ่านสื่อมวลชน
นักการเมืองหรือฝ่ายบริหารก็ใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร เผยแพร่งานหรือกิจกรรมต่าง ๆ
แก่ประชาชน สื่อมวลชนก็อาจจะมีบทบาทในการท้วงติง
วิพากษ์วิจารณ์ผลงานรัฐบาลในสิ่งที่เห็นว่าไม่เหมาะสม
จึงกล่าวได้ว่าเทคโนโลยีการสื่อสาร
มีส่วนทำให้โฉมหน้าของการเมืองเปลี่ยนแปลงไปด้วย
4. ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ต่อสังคมโลก
ผลกระทบของโลกาภิวัตน์ที่มีต่อสังคมโลกในปัจจุบันเกิดขึ้นในด้านสังคม
เศรษฐกิจ การเมือง ดังนี้
4.1 ผลกระทบด้านสังคม
4.1.1 การ
ครอบโลกทางวัฒนธรรม
เนื่องจากระบบสื่อสารไร้พรมแดนทำให้เกิดการครอบโลกทางวัฒนธรรม
อิทธิพลของวัฒนธรรม
และอำนาจของเศรษฐกิจจากประเทศที่พัฒนาแล้วได้ไหลบ่าเข้าสู่ประเทศอื่นอย่าง
รุนแรง
ก่อให้เกิดกระแสวัฒนธรรมโลก (Neo-Westernization)
ครอบงำทางด้านความคิด
การมองโลก การแต่งกาย
การบริโภคนิยมแพร่หลายเข้าครอบคลุมเหนือวัฒนธรรมของประชาคมทั่วโลก ผลที่ตามมาคือ
เกิดระบบผูกขาดไร้พรมแดน
4.1.2 หมู่บ้านโลก (Global Village) จากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคม
ทำให้สังคมโลกไร้พรมแดน โลกทั้งโลกเป็นเสมือนหมู่บ้านเดียวกัน
สมาชิกของหมู่บ้านคนใดทำอะไร ก็สามารถรับรู้ได้ทั่วกันทั่วโลก
เมื่อมาอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน
สิ่งใดที่มากระทบประเทศหนึ่งก็ย่อมกระทบไปถึงประเทศอื่น ๆ ไปด้วย
อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในส่วนใดส่วนหนึ่งของโลก
สามารถรับรู้ได้อย่างฉับพลัน
4.1.3 การแสวงหากำไรแบบใหม่
การสื่อสารที่รวดเร็วทำให้เกิดสภาวการณ์ไร้พรมแดนของเงินตรา ซึ่งสามารถไหลไปกระจุกตัวทุกหนทุกแห่งในโลกได้
ทุกครั้งที่เกิดการไหลเข้าของทุนมหาศาลจากทั่วโลกไปกระจุกตัวอยู่ที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง
ก็จะก่อให้เกิดการพองตัวของทุนอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการแสวงหากำไรแบบใหม่ขึ้น
4.1.4 สังคมความรู้ยุคข่าวสารข้อมูล
ยุคโลกาภิวัตน์เป็นยุคแห่งข่าวสารข้อมูล
เทคโนโลยีเป็นกลไกสำคัญของการครอบคลองข่าวสารข้อมูล
จึงได้มีการคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วมาก
เทคโนโลยีที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ได้แก่
1) การพัฒนาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์
เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มีการพัฒนาใหม่ทุก 18 เดือน
ส่งผลให้คอมพิวเตอร์มีความเร็วสูงราคาถูกลง
คอมพิวเตอร์จึงเข้ามามีส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันเพื่อใช้งานทั้งที่ทำงานและที่บ้าน
2) การพัฒนาเทคโนโลยีคมนาคม
เพื่อให้สามารถติดต่อถึงกันได้อย่างง่าย รวดเร็ว ไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของโลก
ได้มีการพัฒนาการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์ใช้สื่อสารผ่านคลื่นไมโคเวฟ ผ่านดาวเทียมสื่อสาร เกิดโทรศัพท์เคลื่อนที่
ติดต่อสื่อสารผ่านอีเมล์ด้วยคอมพิวเตอร์ สามารถส่งข้อความด้วยแฟกซ์
เทคโนโลยีสื่อสารที่ทันสมัย สามารถบริการได้กว้างขวางแต่มีราคาถูกลง
โลกถูกเชื่อมด้วยเทคโนโลยีคมนาคม โลกที่กว้างใหญ่ได้แคบลงเป็นหมู่บ้านโลก
3) การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ
สามารถถ่ายทอดข่าวสาร ความรู้ ข้อมูลโดยผ่านอีเมล์ อินเทอร์เนต
และเวิร์ล วาย เวป
ข่าวสารความรู้ข้อมูล จึงเข้าถึงประชาชนได้ง่ายดายและเป็นจำนวนมาก
ก่อให้เกิดการพัฒนาภูมิปัญญาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การกระจายความรู้
การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศจะช่วยให้ประชาชนมีโอกาสรับรู้และเรียนรู้มากขึ้น
สังคมโลกกลายเป็นสังคมความรู้
4.2 ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจโลกมีผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัตน์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังนี้
4.2.1 การปฏิรูประบบเศรษฐกิจแบบเสรี
จากการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์และกระแสโลกาภิวัตน์
ทำให้ระบบทุนนิยมโลกแผ่ขยายออกไปครอบคลุมเกือบทุกส่วนของโลก
เกิดการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศ การเพิ่มขึ้นของทุนระหว่างประเทศ
ทำให้เศรษฐกิจของภูมิภาคต่าง ๆ เชื่อมโยงและพึ่งพาซึ่งกันและกันมากขึ้น ประเทศต่าง ๆ
พากันปฏิรูปเศรษฐกิจให้เสรีเพื่อเตรียมพร้อมต่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงขึ้น
ประเทศสังคมนิยมที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนและควบคุมที่ส่วนกลาง
ได้ปฏิรูปโดยเปิดประเทศให้นักธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุน นำกลไกตลาดมาประยุกต์ใช้
เช่น จีนมีนโยบายที่ทันสมัย เวียดนามใช้นโยบายปฏิรูป( Doi Moi) ส่วนประเทศที่ใช้ระบบทุนนิยม
ก็มีการปฏิรูปเศรษฐกิจทั้งในด้านการค้าและการเงินโดยลดข้อจำกัดต่าง ๆ
เพื่อให้เสรียิ่งขึ้น เพื่อสร้างโอกาสในการระดมทุนการเคลื่อนย้ายทุน
อันส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตและการประกอบการลดลง เพื่อให้สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4.2.2 การวางกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง
ๆ เนื่องมาจากการแข่งขันทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้น
ทำให้หลายประเทศไม่มั่นใจว่าจะมีศักยภาพเพียงพอที่จะแข่งขันในระบบการค้าเสรีบางประเทศเริ่มใช้มาตรการปกป้องทางการค้า
หลายประเทศพยายามหาแนวร่วมทางเศรษฐกิจขยายขอบเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
โดยจัดตั้งกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาคขึ้น เช่น ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC) ได้กระชับความร่วมมือจัดตั้งเป็น ตลาดเดียว ใน ค.ศ. 1999 ส่วนสหรัฐอเมริกา แคนาดา และแม็กซิโกได้ร่วมมือทางเศรษฐกิจจัดตั้งเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ
(NAFTA) ในขณะที่กลุ่มประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ร่วมมือกันจัดตั้ง
เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) อีกทั้งยังมีการร่วมมือในย่านเอเชียแปซิฟิก
(APEC) การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจเหล่านี้
อาจนำไปสู่ความตึงเครียดทางการค้าหรือสงครามการค้าได้ ถ้าหากผลประโยชน์ขัดกันจนไม่สามารถประนีประนอมได้
นอกเหนือจากการรวมกลุ่มในระดับภูมิภาคแล้ว บางประเทศยังพยายามร่วมมือในระดับเล็ก
ระหว่างบนพื้นที่ของประเทศในลักษณะอนุภูมิภาค เช่น ความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ
ระหว่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย (Indonesia
Malaysia Thailand Growth Triangle : IMTGT) และความร่วมมือสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ
(Quadangle Cooperative) ระหว่างไทย ลาว พม่า
และจีนตอนใต้ โดยแต่ละประเทศจะอาศัยความได้เปรียบของกันและกัน
เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกกำลังนำไปสู่การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจโลก
ซึ่งมี 3 ขั้ว คือ ยุโรป เอเชีย
และอเมริกา ระบบเศรษฐกิจโลก 3 เส้าดังกล่าวกำลังก่อตัว
ซึ่งจะมีทั่วการแข่งขันและความร่วมมือ
ดังจะเห็นได้จากการร่วมมือระหว่างเอเชียและยุโรป (Asia
Europe Meeting : ASEM)
4.2.3 เกิดระบบเสรีด้านการเงินและการค้า
เป็นระบบเศรษฐกิจที่สินค้าและเงินตราต่างไหลเวียนไปทั่วโลกได้อย่างเสรี
โดยความเป็นสากลของทุนและเงินตรา ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
ทำให้ทุนกลายเป็นปัจจัยการผลิตที่สามารถเคลื่อนย้ายถ่ายเทไปมาได้อย่างเสรี
การเคลื่อนย้ายของทุนในระดับโลกจากจุดที่ให้ผลตอบแทนต่ำ
ไปยังจุดที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า
ก่อให้เกิดการเก็งกำไรขึ้นทั่วไปในระบบตลาดที่ยังไม่มีเสถียรภาพ
ผู้ที่ควบคุมทุนได้จะอยู่ในฐานะได้เปรียบโดยสิ้นเชิง
เมื่อระบบเศรษฐกิจถูกรวมเข้าด้วยกัน ทุนสามารถไหลเวียนไปยังที่ต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้กระจายต้นทุนออกไปสู่ภายนอกได้มากที่สุด
ผลที่ตามมาคือการโอนย้ายภาระต้นทุนจากนักลงทุนระหว่างประเทศไปยังท้องถิ่นต่าง ๆ
ในภาวะเช่นนี้วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจจะเกิดจขึ้นกับประเทศที่นำทุนเข้าจากต่างประเทศได้ในระยะเวลาไม่มากนัก
ไม่ว่าสมรรถภาพการบริหารเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ จะเป็นอย่างไรก็ตาม
ก็จะเกิดการเคลื่อนย้ายของกองทุนขนาดใหญ่อย่างรวดเร็วทั้งไหลเข้าและไหลออก
4.2.4 ระบบ
การผลิตแบบอัตโนมัติ
เป็นการเปลี่ยนแปลงด้านการผลิตสินค้า
โดยการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามาควบคุมการผลิต
โดยมีลักษณะการใช้งานเฉพาะซึ่งใช้ระยะเวลาการผลิตสั้นกว่าสิ้นเปลืองน้อย
กว่าเข้ามาแทนที่
เช่น
ชิ้นส่วนรถยนต์อาจได้รับการผลิตอยู่ในหลายประเทศแล้วนำมาประกอบเป็นรถยนต์ใน
ประเทศที่ไม่ได้ผลิตขึ้นมา
แล้วส่งขายไปทั่วโลก
ซึ่งลักษณะการประกอบการอย่างนี้เป็นลักษณะของการเกิดบริษัทข้ามชาติ
เป็นแบบฉบับธุรกิจโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีผลทำให้ธุรกิจ การเงินหลักทรัพย์ ธนาคาร
ประกันภัย ต้องปรับตัวเพื่อรองรับธุรกิจแบบโลกาภิวัตน์ด้วย
การผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนระบบการผลิตมาเป็นการผลิตอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
ระบบการเงินก็จะต้องปรับมาให้บริการแบบเดียวกันด้วย กระแสเงินตราต่าง ๆ และธุรกรรมทางการเงินผ่านเข้าออกธนาคารตลอดเวลาในช่วงเสี้ยววินาที
โดยใช้อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอัตราเร็วนี้คือความสามารถที่จะก้าวล้ำหน้า
ทำให้มีผลต่อการกระจายอำนาจและผลกำไรอย่างมากมาย
กระแสการแข่งขันด้านการค้าและการแสวงหาตลาดได้ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว กลายเป็นสภาพ
ข้ามชาติอย่างแท้จริง
4.3 ผลกระทบด้านการเมือง กระแสโลกาภิวัตน์ส่งผลกระทบต่อสังคมโลก
อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังนี้
4.3.1 ความเป็นท้องถิ่นนิยม (Localism)
กระแสโลกาภิวัตน์ สร้างความรู้สึกชาตินิยมระดับท้องถิ่น เติบโตแทนที่อุดมการณ์ชาตินิยม
รัฐชาติแตกย่อยสลายตามชาติพันธุ์และลักษณะเฉพาะเชื้อชาติที่มีรากฐานที่เล็กกว่าชาติ
กลายเป็นกลุ่มลัทธิชาตินิยมใหม่ (Neo-Nationalism) ได้ก่อตัวเป็นรัฐชาติที่มีรากฐานแห่งความเป็นชาติหรือเผ่าพันธุ์ที่แน่นแฟ้นกลมกลืนกันยิ่งขึ้น ปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติเหล่านี้มักเชื่อมโยงกับความสำคัญของท้องถิ่น
เนื่องจากสังคมยุคโลกาภิวัตน์เป็นโลกยุคข่าวสาร
ซึ่งประชาชนในท้องถิ่นรับรู้ข้อมูลอย่างรวดเร็วได้จากสื่อมวลชน
เป็นการปลูกจิตสำนึกของประชาชนในท้องถิ่น
ให้รู้จักรักษาและหวงแหนทรัพยากรภายในท้องถิ่นของตนเพิ่มมากขึ้น
การรับรู้ข้อมูลทำให้ทราบผลดีผลเสียที่รัฐบาลกลางดำเนินการ ยุคโลกาภิวัตน์จึง
เป็นยุคแห่งการตรวจสอบ
รัฐบาลกลางที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติจะตักตวงผลประโยชน์จากท้องถิ่น
จึงมักถูกต่อต้านอย่างรุนแรง ถ้าหากเป็นเชื้อชาติเดียวกัน
รัฐบาลที่ไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนในท้องถิ่นก็ย่อมถูกต่อต้าน
อย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน
4.3.2 บทบาทของสถาบันและกลุ่มทางการเมือง สถาบันทางการเมืองที่มีอยู่เดิม
ได้แก่ พรรคการเมือง รัฐบาล นิติบัญญัติ ตุลาการ แต่ในยุคโลกาภิวัตน์ได้เกิดสถาบันการเมืองใหม่เพิ่มขึ้นเป็นกลุ่มผลประโยชน์ต่าง
ๆ กลุ่มเฉพาะกรณีเกิดขึ้นมาก เช่น กลุ่มสิทธิสตรี กลุ่มองค์กรเอกชน
กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กลุ่มต่าง ๆ
ที่เกิดขึ้นใหม่เหล่านี้เป็นเพราะชัยชนะของปัจเจกชน
ทำให้แต่ละกลุ่มมีความเป็นอิสระในการเรียกร้องตามความต้องการของตน
มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มอยู่ตลอดเวลา
มีการเรียกร้องให้ปฏิรูปทางการเมืองและสังคมเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางการเมืองและผู้นำทาการเมืองที่มองการณ์ไกล
สังคมโลกปัจจุบัน
นอกจากรัฐชาติเป็นตัวแสดงที่สำคัญแล้ว ยังมีตัวแสดงอื่น ๆ ที่มีบทบาทโดดเด่น เช่น
องค์การระหว่างประเทศ บรรษัทข้ามชาติ องค์กรเอกชน ตัวแสดงเหล่านี้จะมีบทบาทมากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์การรวมประเทศสมาชิกจากทั่วโลก
ที่จะมาร่วมปรึกษาหารือรักษาผลประโยชน์ร่วมกัน
องค์การระหว่างประเทศ
องค์การระหว่างประเทศเริ่มแรกเกิดจากความร่วมมือของประมุขของประเทศในยุโรปหลังสงครามนโปเลียนสิ้นสุดลง เกิดการประชุมคองเกรสแห่งเวียนนา
(congress of vienna 1815) องค์การระหว่างประเทศเกิดขึ้นครั้งแรก
ต่อมาเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ก่อตั้งองค์การสันนิบาตชาติขึ้นจัดเป็นองค์การระหว่างประเทศทำงานเฉพาะด้านเป็นส่วนใหญ่
องค์การระหว่างประเทศ ทางด้านสังคมมีบทบาทในการวางมาตรฐานการปฏิบัติของรัฐ
วางระเบียบกฎเกณฑ์ในการติดต่อระหว่างประเทศและการให้บริการ
ส่วนองค์การระหว่างประเทศทางเศรษฐกิจ ดูแลให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหา
องค์การระหว่างประเทศทางการเมือง
ทำหน้าที่รักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างนานาชาติ
1. ความหมายขององค์การระหว่างประเทศ
องค์การระหว่างประเทศ หมายถึง องค์การที่ประเทศหรือรัฐ
ตั้งแต่สองรัฐขึ้นไปรวมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นกลไกอย่างหนึ่งในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
รวมทั้งสนับสนุนความร่วมมือและพัฒนากิจกรรมต่าง ๆ
เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของรัฐสมาชิกและมวลมนุษยชาติ
2. ความสำคัญขององค์การระหว่างประเทศ
การเข้าเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศเป็นไปด้วยความสมัครใจของรัฐที่จะอยู่รวมกลุ่มกันโดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน
องค์การระหว่างประเทศจึงมีความสำคัญดังนี้
2.1 เป็นหน่วยงานที่มีตัวแทนของรัฐมาประชุมพบปะกัน
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแสวงหาสันติภาพและความมั่นคงร่วมกัน
2.2 ดำเนินการร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
เป็นเวทีสำหรับรัฐต่าง ๆ มาร่วมตกลงประสานผลประโยชน์ระหว่างกัน
2.3 รัฐได้รู้ถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างเครื่องมือที่เป็นสถาบันและวิธีการที่เป็นระบบ
การจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศ
จึงเป็นทางออกของรัฐในการจัดระเบียบความสัมพันธ์และวางหลักเกณฑ์สำหรับใช้ในการปฏิบัติต่อไป
3. บทบาทขององค์การระหว่างประเทศ
บทบาทสำคัญมีทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
3.1 บทบาทขององค์การระหว่างประเทศทางด้านสังคม
องค์การระหว่างประเทศทางสังคม
มีหน้าที่และบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาทางสังคม วัฒนธรรมและมนุษยธรรม
อันเนื่องมาจากความเจริญก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี
เพื่อก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าและดำรงชีวิตอย่างมีความสุขของมวลมนุษยชาติ
บทบาทที่สำคัญ มีดังนี้
3.1.1
วางมาตรฐานการปฏิบัติของรัฐในเรื่องเกี่ยวกับกิจการภายในของรัฐ
เช่น สิทธิมนุษยชน แรงงาน
3.1.2
วางระเบียบกฎเกณฑ์ในการติดต่อระหว่างประเทศขึ้น
เพื่อให้สามารถติดต่อกันสะดวก ราบรื่น และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น สหภาพไปรษณีย์สากล
3.1.3
การให้บริการด้านต่าง
ๆ เช่น การให้ข่าวสาร การบรรเทาทุกข์ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ
การให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัย และพิทักษ์สิ่งแวดล้อม
3.2 บทบาทขององค์การระหว่างประเทศทางด้านเศรษฐกิจ
มีบทบาทมุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจของสังคมโลก
ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและให้ปฏิบัติตามกติกา โดยมีบทบาทที่สำคัญดังนี้
3.2.1
เป็นตัวกลางทางการเงิน
ตลอดจนอำนวยความสะดวกด้านการเงิน
3.2.2
ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศที่กำลังพัฒนานำไปลงทุนพัฒนาประเทศ
มีกองทุนเงินตราต่างประเทศให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อแก้ไขปัญหา
3.2.3
วิจัยและวางแผน
เพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของสังคมไทย
และให้มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการให้เหมาะสม
3.2.4
แนะนำการแก้ไขปัญหาเงินตรา
วางระเบียบเกี่ยวกับการกำหนดมูลค่าของเงินตรา
3.2.5
ให้ความช่วยเหลือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่
ๆ
3.3 บทบาทขององค์การระหว่างประเทศทางด้านการเมือง
เป็นบทบาทที่มุ่งเพื่อรักษา
สันติภาพและประสานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ให้เกิดความมั่นคง
โดยมีบทบาทที่สำคัญดังนี้
3.3.1
ส่งเสริมให้เกิดสันติภาพและรักษาความมั่นคงร่วมกัน
โดยให้ความสำคัญกับกองกำลังรักษาสันติภาพ
ทำหน้าที่รักษาสันติภาพในบริเวณพื้นที่ที่มีข้อพิพาท
3.3.2
ยุติกรณีพิพาทด้วยสันติวิธี
โดยวิธีการทางการทูต การไกล่เกลี่ย การเจรจาและการประนีประนอม
3.3.3
สนับสนุนให้ดินแดนอาณานิคมได้รับเอกราชปกครองตนเอง
ด้วยหลักการกำหนดโดยตนเอง
3.3.4
สนับสนุนการลดกำลังอาวุธและการควบคุมอาวุธ
การห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงร่วมกัน
4. ลักษณะขององค์การระหว่างประเทศ
องค์การระหว่างประเทศจัดแบ่งออกได้เป็น
2 ลักษณะ
4.1 ยึดถือตามบทบาทหน้าที่ในการปฏิบัติงาน
เป็นการแบ่งตามภารกิจที่ปฏิบัติในการให้ความร่วมมือ
จึงแบ่งออกเป็นองค์การระหว่างประเทศทางสังคม ทางด้านเศรษฐกิจ และทางด้านการเมือง
แต่บางองค์การมีเป้าหมายในการดำเนินงานครอบคลุมทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง
เช่น องค์การสหประชาชาติ เป็นองค์การที่มีสมาชิกจากทุกภูมิภาคของโลก
และมีบทบาทสูงมากในสังคมโลกปัจจุบัน
4.2 ยึดถือตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์
เป็นการแบ่งตามลักษณะของการรวมกลุ่มโดยยึดเขตพื้นที่ของสมาชิกเป็นเกณฑ์ จึงแบ่งออกเป็น
2 ระดับ คือ ระดับโลก หรือระดับสากล
เป็นองค์การที่มีสมาชิกมาจากเขตพื้นที่โลก เช่น องค์การสหประชาชาติ
และองค์การระดับภูมิภาค ยึดหลักเข้ามารวมกันตามข้อผูกพันทางภูมิศาสตร์ สังคม
และวัฒนธรรม ซี่งสมาชิกจะรวมกลุ่มอยู่ในภูมิภาคนั้น ๆ
เช่น องค์การอาเซียน เป็นการรวมกลุ่มในเขตพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
5. องค์การระหว่างประเทศด้านสังคม
องค์การระหว่างประเทศด้านสังคม
หมายถึง หน่วยงาน ที่มีบทบาทและหน้าที่ในการแก้ปัญหาระหว่างประเทศด้านสังคม
วัฒนธรรม และมนุษยธรรม ก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในทางสังคมของประชาชาติทั้งปวง
องค์การระหว่างประเทศด้านสังคมที่สำคัญมีดังนี้
5.1 สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ
(United Nations High Commissioner for Refugees
: UNIHCR)
ผู้ลี้ภัย
หมายถึง ผู้ลี้ภัยจากสงคราม การปฏิวัติภัยธรรมชาติ
รวมตลอดถึงบุคคลบางกลุ่มที่หวาดกลัวว่าจะถูกข่มเหง รังแก หรือถูก
ด้วยเหตุผลของความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนาหรือความคิดเห็นทางการเมือง
ไม่อาจยอมรับสภาพความเป็นอยู่บางอย่างได้
จึงเกิดการอพยพออกจากประเทศของตนไปยังดินแดนของประเทศอื่น กลุ่มบุคคลเหล่านี้เรียกว่า
ผู้ลี้ภัย
5.1.1 บทบาทและการดำเนินงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ
บทบาทสำคัญ
คือการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัย
บุคคลที่อยู่ในฐานะที่จะได้รับความคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัย ได้แก่
บุคคลที่ได้รับการพิจารณาแล้วว่าเป็นผู้ลี้ภัย และมีความวิตกว่าอาจจะได้รับอันตรายด้วยสาเหตุทางเชื้อชาติ
ศาสนา สัญชาติ และยุติการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้คุ้มครองดังกรณีต่อไปนี้
1) ได้ใช้สิทธิสืบเนื่องจากความคุ้มครองจากรัฐแห่งสัญชาติของตน
2) ได้รับสัญชาติเดิมคืนมาด้วยความสมัครใจ
หลังจากได้สูญเสียสัญชาตินั้นไป
3) ได้มาซึ่งสัญชาติใหม่
และได้รับความคุ้มครองจากรัฐแห่งสัญชาติใหม่ของตน
4) ได้กลับเข้าไปตั้งถิ่นฐานด้วยความสมัครใจในรัฐที่ตนได้จากมา
หรือรัฐที่ตนอยู่ภายนอกอาณาเขตเนื่องจากความหวาดกลัวจากการประหาร
5) ไม่อาจปฏิเสธที่จะได้ใช้สิทธิ
สืบเนื่องจากความคุ้มครองจากรัฐแห่งสัญชาติของตน
เนื่องจากสถานการณ์ที่ทำให้ถือได้ว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ลี้ภัยได้สิ้นสุดลงแล้ว
6) เป็นบุคคลไร้สัญชาติ
ซึ่งสามารถกลับสู่รัฐที่เดิมตนมีถิ่นฐานพำนักประจำได้
เนื่องจากสถานการณ์ที่ทำให้ถือได้ว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ลี้ภัยได้สิ้นสุดลงแล้ว
5.1.2 วัตถุประสงค์ในการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัยมีดังนี้
1) ดำเนินการให้ผู้ลี้ภัยได้มีที่อยู่อาศัยอย่างถาวร
2) ดำเนินการให้ผู้ลี้ภัยได้รับสิทธิอยู่อาศัยในฐานะคนต่างด้าว
เพราะเหตุที่พวกเขาไม่ได้รับความคุ้มครองจากตัวแทนรัฐบาลของประเทศตน
3) ดำเนินการให้ผู้ลี้ภัยได้รับในฐานะและสิทธิใกล้เคียงกับพลเมืองของประเทศที่ตนเข้าไปพักอาศัย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในฐานะพลเมือง สิทธิด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
5.1.3 หลักการให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยการปฏิบัติการให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัย
แบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะคือ
ให้ความคุ้มครองโดยทางตรง
คือ ให้ความช่วยเหลือกับกลุ่มบุคคลในกรณีขอลี้ภัยไม่ได้ถูกขับไล่
หรือจากการถูกผลักดันด้วยความไม่สมัครใจ
และรวมถึงการออกเอกสารหนังสือเดินทางให้แก่ผู้ลี้ภัย และให้ความคุ้มครองโดยทางอ้อม
โดยการสนับสนุนส่งเสริมให้มีการปรับปรุงข้อบังคับและกฎหมายที่เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยให้ได้มาตรฐาน
และเป็นที่ยอมรับข้อตกลงตามกฎหมายระหว่างประเทศ
5.2 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO)
การจัดตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ
เริ่มตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้เกิดสภาพการทำงานที่ไม่เหมาะสมในโรงงาน
และนักวิชาการได้ตระหนักถึงความสำคัญด้านมนุษยธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความปลอดภัยในการทำงาน
ค่าแรง และสภาพการทำงาน ในปี ค.ศ. 1870 สภาแรงงานช่างฝีมือในยุโรปได้ก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศเรียกว่า
สำนักเลขาธิการสหภาพแรงงานช่างฝีมือ ในปี ค.ศ. 1900 ได้
มีการก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศเพื่อตรากฎหมายแรงงาน
รณรงค์ให้มีมาตรการด้านแรงงานระหว่างประเทศ
และแก้ไขสภาพการทำงานที่ไม่เหมาะสม
ต่อมาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกฎหมายแรงงานระหว่างประเทศขึ้นเมื่อตั้ง
องค์การสหประชาชาติองค์การแรงงานระหว่างประเทศจึงเป็นทบวงการชำนัญพิเศษองค์
แรกขององค์การสหประชาชาติในปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า
145 ประเทศ
5.2.1 บทบาทและการดำเนินงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ
1) การวางรากฐานทางด้านแรงงานระหว่างประเทศ
เป็นกิจกรรมหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ทางด้านสิทธิมนุษยชน เช่น
ความปลอดภัยในการทำงาน ค่าแรงที่ยุติธรรมและสภาพการทำงานที่เหมาะสม
2) การให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิควิทยาการ
คือการช่วยเหลือในการยกร่างกฎหมายแรงงานภายในประเทศสมาชิก
ให้คำแนะนำในการบริหารด้านแรงงานและให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิควิทยาการ
ในการปรับปรุงเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสมาชิก
3) การให้ความช่วยเหลือทางด้านการศึกษาและฝึกอบรม
ในด้านการประเมินแหล่งกำลังคน และความต้องการด้านกำลังคน
ให้ความช่วยเหลือในการวิเคราะห์ตลาด
ให้คำแนะนำด้านแรงงานจัดให้มีการทดสอบความรู้ด้านวิชาชีพ การวิเคราะห์แรงงาน
โดยเฉพาะการฝึกอบรมทางวิชาชีพ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองตูริน ประเทศอิตาลี
4) ด้านการวิจัยและข้อมูลข่าวสาร
มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านแรงงาน มีการวิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลของกลุ่มแรงงาน
และเผยแพร่ข่าวสารให้กับประเทศสมาชิกในรูปแบบเอกสารและสื่อต่าง ๆ
รวมทั้งกฎหมายเพื่อความปลอดภัยและสุขภาพในการทำงาน
5.3 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization :WHO)
ในศตวรรษที่
19 องค์การอนามัยโลก
ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อเกิดอหิวาตกโรคระบาดจากการเดินทางของชาวมุสลิมจากแอฟริกา
เหนือ เดินทางผ่านยุโรปเพื่อไปแสวงบุญ ณ กรุงเมกกะ
ประเทศซาอุดิอาระเบีย ทำให้เกิดโรคระบาดอย่างรุนแรง
ในยุโรปมีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ประเทศต่าง ๆ
ได้หาวิธีการป้องกันฝรั่งเศสได้จัดตั้งสถานีอนามัยในดินแดนตะวันออกกลางและ
ได้ร่วมกันตั้งคณะมนตรีทางอนามัยระหว่างประเทศมีการประชุมกันที่ตุรกี
ในปี ค.ศ. 1907 จัดตั้งองค์การสาธารณสุขระหว่างประเทศได้ผลสำเร็จ
เพื่อดำเนินการด้านอนามัย ประกอบด้วย 12 ประเทศ มีสำนักงานใหญ่ที่อยู่ที่กรุงปารีส
ประเทศฝรั่งเศส
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่
2 ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
และเกิดปัญหาสุขภาพอนามัยในปี ค.ศ. 1948 คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมขององค์การสหประชาชาติได้มีมติจัดตั้ง องค์การอนามัยโลกขึ้น
ประกอบด้วยสมาชิก จำนวนกว่า 150 ประเทศ
มีสำนักงานใหญ่ที่อยู่ที่นครเจนีวา
ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
5.3.1 บทบาทและการดำเนินงานขององค์การอนามัยโลก
1) ต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บ
ทำหน้าที่ควบคุมการแพร่ขยายของเชื้อโรคโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคระบาด โดยการกำจัด
ควบคุมการแพร่ขยายของเชื้อโรค
ปรับปรุงสภาวะความเป็นอยู่ที่ไม่เหมาะสมอันเป็นเหตุนำมาซึ่งการเกิดโรคระบาด
2) ด้านการสาธารณสุข
องค์การอนามัยโลก ได้มีบทบาทอย่างมากในการช่วยเหลือด้านการสาธารณสุข คือ
พัฒนากิจการของโรงพยาบาลในประเทศต่าง ๆ โครงการพื้นฟูสมรรถภาพให้แก่ผู้ป่วย
โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นคนพิการ
รณรงค์เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพอนามัยในการประกอบอาชีพและกำหนดมาตรฐานยาและเคมีภัณฑ์
3) ด้านการให้การศึกษาและอบรม
ในด้านการเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพอนามัย
โดยให้การศึกษาและฝึกอบรมแก่บุคลากรด้านสาธารณสุขให้แก่ประเทศสมาชิก
รวมทั้งส่งเสริมให้ความรู้ด้านสุขภาพอนามัยแก่ประชาชนทั่วไป
4) ด้านการวิจัยและข้อมูลข่าวสาร
ได้มีการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาด้านสุขภาพอนามัย
เป็นการวิจัยเกี่ยวกับเชื้อโรคต่าง ๆ
วิธีการกำจัดและรักษาโรคและเป็นศูนย์กลางด้านข้อมูลข่าวสารและเผยแพร่ความรู้ด้านการอนามัยโลก
5.4 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ
(Food and Agriculture Organization :
FAO)
องค์การ
อาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ
เกิดขึ้นจากการดำเนินการด้านเกษตรอันเป็นผลมาจากความเจริญก้าวหน้าทางวิทยา
การและมีการประชุมระหว่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางการเกษตร
ในปี ค.ศ. 1905 ได้จัดตั้งสถาบันการเกษตรระหว่างประเทศที่กรุงโรมประเทศอิตาลีมีบทบาทในการส่งเสริมเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรด้านอาหาร
และเป็นศูนย์กลางรวบรวมแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเกษตร
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่
2 ได้เกิดปัญหาขาดแคลนอาหารอันเนื่องมาจากภาวะสังคมถึงขั้นต้องมีการแบ่งปันอาหารกัน
สหรัฐอเมริกาจึงได้จัดให้มีการประชุมทางด้านโภชนาการเพื่อขจัดความหิวโหยและการบริโภคไม่ถูกหลักวิชาการ
ในปี ค.ศ. 1941 และใน ค.ศ. 1946 สมัชชาใหญ่ขององค์การสหประชาชาติได้มีมติรับรองให้องค์การอาหารและเกษตรเข้าร่วมในองค์การสหประชาชาติ
มีประเทศสมาชิกรวม 156 ประเทศ
5.4.1 บทบาทและการดำเนินงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ
1)
ด้านอาหาร
มีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาทางด้านอาหารตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 แก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารอันเกิดจากการเพิ่มประชากรของประเทศกำลังพัฒนา
จัดทำโครงการอาหารโลกร่วมกับองค์การสหประชาชาติ
เพื่อระงับการขาดแคลนอาหารอย่างฉับพลัน
และช่วยเหลือชุมชนในการเพิ่มผลผลิตด้านอาหารและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรรวมถึงการสำรวจภาวการณ์อาหารและการเกษตรของโลก
2)
ด้านการเกษตร
มีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาเพิ่มผลผลิตทางด้านการเกษตร ทั้งด้านพืช ผัก ผลไม้
พันธุ์ไม้ และการปศุสัตว์
3)
ด้านการประมง
ได้มีการรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลด้านการประมง
ปรับปรุงวิธีการและเครื่องมือการประมงให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
ศึกษาค้นคว้าสัตว์น้ำที่ใกล้จะสูญพันธุ์
และวิจัยแสวงหาพันธุ์สัตว์น้ำมาเป็นอาหารให้กับประชากรโลก
4)
ด้านป่าไม้
ได้มีการส่งเสริมสงวนรักษาป่าไม้
พัฒนาพื้นที่ป่าส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากป่าและนำเทคโนโลยีด้านการเกษตรมาใช้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมป่าไม้
และได้จัดตั้งคณะกรรมการภูมิภาคเพื่อดำเนินการด้านป่าไม้
5.5 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ
(United Nations Educational Scientific and Cultural
Organization-UNESCO)
หลังจากสงครามโลกครั้งที่
1 สิ้นสุดลงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศในปี
ค.ศ. 1926 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปารีส
ประเทศฝรั่งเศส
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่
2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของกลุ่มประเทศพันธมิตรได้จัดประชุมเพื่อปรับปรุงโครงสร้างระบบการศึกษาของประเทศที่ถูกยึดครองโดยนาซี
และค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ประยุกต์ใช้สังคมศาสตร์ให้เกิดประโยชน์ ในปี ค.ศ. 1945 ได้ประชุมจัดตั้งองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์
และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงปารีสมีสมาชิกมากกว่า 160 ประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเสริมสร้างสันติสุข
ความมั่นคงของโลก โดยอาศัยการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม การติดต่อสื่อสาร
รวมถึงกฎหมายสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ ที่บัญญัติไว้ในกฎบัตรแห่งสหประชาชาติ
5.5.1 บทบาทและหน้าที่ขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติมีบทบาทดังนี้
1)
ด้านการศึกษา
มีจุดมุ่งหมายที่จะลดจำนวนอัตราผู้ไม่รู้หนังสือ โดยจัดทำโครงการต่าง ๆ
เพื่อพัฒนาด้านการศึกษาในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา
ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การสหประชาชาติ นอกจากนี้ยังส่งเสริมการฝึกอบรมด้านอาชีพ
รวบรวมเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา
2)
ด้านวิทยาศาสตร์
โดยพยายามที่จะขยายความร่วมมือระหว่างประเทศทางด้านวิทยาศาสตร์
ส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ สมุทรศาสตร์
อุตุนิยมวิทยา ธรณีวิทยา คอมพิวเตอร์ และไมโครอิเล็กทรอนิกส์
รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการเผยแพร่เทคโนโลยีใหม่ ๆ
ฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญทางด้านต่าง ๆ และพัฒนาหลักสูตร การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์
3)
ด้านวัฒนธรรม
ได้แก่ การอนุรักษ์มรดกธรรมชาติ โดยการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของวัฒนธรรมด้านต่าง
ๆ ทั้งงานศิลปะ สถาปัตยกรรม วรรณคดี หัตถกรรม นิทานพื้นบ้าน ความเชื่อ พิธีกรรม
เป็นต้น กิจกรรมในการพัฒนาด้านวัฒนธรรมงานด้านอนุรักษ์และพัฒนาวัฒนธรรม
ต้องอาศัยความร่วมมือของประชากรทั้งในและระหว่างประเทศ บนพื้นฐานความเท่าเทียมกัน
โดยยอมรับว่าวัฒนธรรมของแต่ละสังคมมีความเท่าเทียมกัน
4)
ด้านสังคมศาสตร์
ได้จัดทำโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาปัญหา
รวมทั้งการแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
5)
ด้านการสื่อสาร
ได้ดำเนินการในการกระตุ้นและส่งเสริมสนับสนุนการใช้สื่อเพื่อพัฒนาด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์
โดยได้จัดทำโครงการต่าง ๆ ในการให้ความช่วยเหลือ
6.องค์การระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจในทศวรรษที่ผ่านมาได้ก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์
เกิดความเจริญอย่างรวดเร็วทางด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร
ส่งผลให้การแข่งขันในด้านการค้าระหว่างประเทศมีความรุนแรงมากขึ้นองค์การ
ระหว่างประเทศทางด้านเศรษฐกิจ
จึงมีบทบาทและอิทธิพลในการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจของสังคมโลก
ดูแลให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตามกติกาของสังคมโลก
ผลักดันให้ใช้นโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยม ส่งเสริมเอกชนให้มีบทบาททางเศรษฐกิจ
องค์การระหว่างประเทศทางเศรษฐกิจที่สำคัญมีดังนี้
6.1
องค์การการค้าโลก
( World Trade Organization : WTO)
เป็นองค์การที่ถือกำเนิดในวันที่
1 มกราคม ค.ศ. 1995 อันเป็นผลมาจากการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัย ภายใต้การประชุมของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้าหรือแกตต์ (General Agreement
on Tariffs and Trade : GATT) องค์การการค้าโลก มีสมาชิกผู้ก่อตั้ง 81 ประเทศ ปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มขึ้นถึง 148 ประเทศ โดยกัมพูชาเป็นสมาชิกใหม่ล่าสุด องค์การการค้าโลกมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์
อดีตรองนายกรัฐมนตรีของไทยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการตั้งแต่ 1 กันยายน ค.ศ. 2002 ถึง ค.ศ. 2005 นับว่าเป็นผู้อำนวยการ WTO คนแรกของเอเชียและของประเทศกำลังพัฒนาที่ก้าวไปมีบทบาท
ในสถาบันเศรษฐกิจระดับโลก
6.1.1 วัตถุประสงค์ขององค์การการค้าโลก
องค์การการค้าโลกทำหน้าที่ดูแลการค้าโลกให้เป็นไปในทางเสรีและมีความเป็นธรรม
มีบทบาทหน้าที่ดังนี้
1)
เป็นเวทีเพื่อเจรจาลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิกในรูปของมาตรการภาษีศุลกากร
และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร
2)
เป็นเวทีที่ให้สมาชิกหันหน้าเข้าหารือ
เพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งทางการค้าและหากตกลงกันไม่ได้ก็จะตั้งคณะลูกขุน (Panel) ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ข้อเสนอแนะ
3)
เป็นผู้เฝ้าดูแลสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ
และจัดให้มีการทบทวนนโยบายการค้าของสมาชิกอย่างสม่ำเสมอ
4)
ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาให้ด้านข้อมูล
ข้อแนะนำเพื่อให้สมาชิกปฏิบัติตามพันธกรณีได้อย่างเพียงพอ
ตลอดจนทำการศึกษาประเด็นการค้าที่สำคัญ
5)
ประสานงานกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
และธนาคารโลกเพื่อให้นโยบายเศรษฐกิจโลกสอดคล้องกันยิ่งขึ้น
6.1.2 หลักการสำคัญขององค์การการค้าโลก
หลักการในการดำเนินงานขององค์การการค้าโลก
ทำหน้าที่ดูแลการค้าสินค้าครอบคลุมถึงการค้า การบริการ สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา
และมาตรการการลงทุนที่เกี่ยวกับการค้า โดยพยายามลดอุปสรรคและมาตรการในการกีดกันทางการค้า
หลักการปฏิบัติที่สำคัญมีดังนี้
1)
การไม่เลือกปฏิบัติ (Non – Discrimination) ในการใช้มาตรการทางการค้าระหว่างประเทศ
โดยการปฏิบัติต่อสินค้าจากทุกประเทศเท่าเทียมกัน (Most
favoured Nation Treatment :
MFN) การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและภาษีศุลกากรหรือมาตรการอื่น ๆ
ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่นำเข้า ต้องเรียกเก็บเท่าเทียมกันทุกประเทศ
และต้องปฏิบัติต่อสินค้านำเข้าเท่าเทียมกับสินค้าภายในประเทศ
2)
ต้องมีความโปร่งใส
เกี่ยวกับข้อกำหนดและมาตรการทางการค้าที่นำมาบังคับใช้กับสินค้า
ประเทศสมาชิกจะต้องพิมพ์กฎระเบียบเกี่ยวกับมาตรการทางการค้า
เผยแพร่ให้สาธารณชนทราบและต้องแจ้งเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ
3)
ใช้ภาษีศุลกากรเท่านั้น
(Tariff-only Protection) ในการคุ้มครองผู้ผลิตภายในห้ามใช้มาตรการจำกัดการนำเข้าทุกชนิด
ยกเว้นกรณีที่สอดคล้องกับบทบัญญัติขององค์การการค้าโลก
4)
ให้มีการรวมกลุ่มทางการค้าเพื่อลดภาษีระหว่างกัน
ทั้งนี้ต้องมีเงื่อนไขในการรวมกลุ่มต้องไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อกีดกันการนำเข้าจากประเทศนอกกลุ่ม
ต้องไม่กระทบกระเทือนผลประโยชน์เดิมของประเทศนอกกลุ่ม
5)
ส่งเสริมการแข่งขันการค้าที่เป็นธรรม
แต่ประเทศสมาชิกสามารถเก็บภาษีและตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนสินค้าเข้าได้
หากมีการไต่สวนตามกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก
แล้วพบว่าประเทศผู้ส่งออกกระทำการทุ่มตลาดและให้การอุดหนุนจริง
ได้ก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งสินค้าอุตสาหกรรมภายในประเทศ
6)
มีกระบวนการยุติข้อพิพาททางการค้า
เมื่อเกิดกรณีมีข้อขัดแย้งทางการค้าให้เจรจาหารือเพื่อยุติข้อพิพาท
หากทำไม่สำเร็จให้นำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการขององค์การการค้าโลก
เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่กระบวนการยุติข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ
6.1.3 ประเทศไทยกับองค์การการค้าโลก
ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกอันดับที่
59 ใน ค.ศ.1995 ไทยได้รับสิทธิประโยชน์หลายประการในการเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก
เช่น ได้รับการลดหย่อนภาษีจากประเทศภาคีอื่น
ได้รับความช่วยเหลือด้านข้อมูลวิชาการต่าง ๆ
ขณะเดียวกันก็มีข้อผูกพันที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบและยอมรับคำตัดสิน
ในกรณีเกิดข้อพิพาท ทางการค้า
การเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ในด้านต่าง ๆ
พอสรุปดังนี้
1)
มีกฎระเบียบที่รัดกุม
โปร่งใส และเป็นธรรม การมีกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศขององค์การการค้าโลก
ช่วยส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม
สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ค้าและผู้ลงทุน
2)
ผู้ผลิตและผู้ส่งอออกสามารถคาดการณ์และวางแผนการค้าระหว่างประเทศ
ล่วงหน้าได้เนื่องจากมีความโปร่งใสโดยเฉพาะในเรื่องภาคี
3)
การส่งออกขยายตัวและตลาดเปิดกว้างมากขึ้น
จากการที่ประเทศสมาชิก ต้องเปิดตลาดตามพันธกรณี
ส่งผลให้การส่งออกของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรของไทย
เดิมต้องประสบปัญหาความผันผวนของราคาในตลาดโลกมาตลอด เพราะไม่มีกฎเกณฑ์การค้าสินค้าเกษตรมากำกับดูแล
หลังจากการเปิดเสรีสินค้าเกษตรได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ในการเจรจาของ GATT รอบอุรุกวัย ทำให้ไทยเปิดตลาดสินค้าเกษตรได้มากขึ้น
โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น และเกาหลี จำเป็นต้องเปิดตลาดข้าว สหภาพยุโรปต้องเปิดตลาดน้ำตาล
ทำให้มีโอกาสส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้เพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นสินค้าที่จะปิดเสรีมากขึ้นโดยมีการขยายโควตานำเข้าในแต่ละปีและจะยกเลิกทั้งหมด
ในปี ค.ศ. 2005 ซึ่งเป็นโอกาสของไทยที่จะไปแข่งขันได้
4)
มีเวทีร้องเรียนข้อพิพาททางการค้า
และมีแนวร่วมต่อสู้กับประเทศใหญ่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เช่น
สหรัฐอเมริกาเคยกีดกันการนำเข้ากุ้งจากไทย
โดยอ้างว่าการจับกุ้งของไทยเป็นอันตรายต่อเต่าทะเล ซึ่งไม่เป็นความจริง
ไทยจึงร่วมมือกับอินเดีย บราซิลฟ้องสหรัฐอเมริกา ผลการตัดสิน ฝ่ายไทยเป็นฝ่ายชนะ
อย่างไรก็ตาม
อุปสรรคทางการค้าที่พบในปัจจุบัน ที่ยังคงต้องแก้ปัญหาต่อไปนี้คือ ประเทศต่างๆ
โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว
มักจะนำมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากรมาเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้า ดังเช่น
สหรัฐอเมริกาเรียกเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดสินค้าไทยหลายรายการ
นำเอาเรื่องการคุ้มครอง
ทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นข้ออ้างในการตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากรโดยทั่วไป (Generalized System of Preferences
: GSP) ตลอดจนนำเรื่องแรงงานและสิ่งแวดล้อมมาผูกโยงกับประเด็นการค้าญี่ปุ่นก็มีการเข้มงวด
ด้านคุณภาพและมาตรฐานสินค้าโดยเฉพาะอาหารต้องติดฉลากสินค้า (Genetically Modified Organisms) GMOs หรือปลอด GMOs ส่วนสหภาพยุโรปก็มีมาตรการเข้มงวดเกี่ยวกับนโยบายความปลอดภัยด้านอาหาร
การควบคุมมาตรฐานสุขอนามัย และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
6.2 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ
(International Monetary Fund :
IMF)
เป็นสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นแกนกลางของระบบการเงินระหว่างประเทศ
เริ่มดำเนินงานเดือนมีนาคม ค.ศ. 1947 สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี สหรัฐอเมริกา
6.2.1 วัตถุประสงค์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศมีฐานะเป็นทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ
โดยมีวัตถุประสงค์หลักดังนี้
1)
ส่งเสริมให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศมีเสถียรภาพและป้องกันการแข่งขันในการลดค่าเงิน
2)
ช่วยแก้ไขปัญหาขาดดุลการชำระเงินของประเทศสมาชิกเพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อระบบการเงินโลก
3)
ดูแลให้ประเทศสมาชิกมีระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่มีเสถียรภาพ
4)
อำนายความสะดวกและส่งเสริมการขยายตัวทางการค้าระหว่างประเทศอย่างสมดุล
เพื่อให้เกิดการจ้างงาน รายได้และพัฒนการผลิตในระดับสูงรวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่ของประเทศสมาชิก
6.2.2 เงื่อนไขในการขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
เมื่อประเทศสมาชิกประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรงถึงขั้นต้องขอความช่วยเหลือ
ผู้กู้จะต้องทำความตกลง เกี่ยวกับแผนการปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจ
หลักการสำคัญที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศใช้เป็นเงื่อนไขกับประเทศผู้ขอกู้
สรุปได้ดังนี้
1)
การทำให้ระบบเศรษฐกิจและการเงินมีเสถียรภาพทั้งภายในและต่างประเทศ
(Stabilization) โดยการลดการขาดดุลการชำระเงินดุลบัญชีเดินสะพัด
และการดำเนินการให้เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่เหมาะสม
2)
การสนับสนุนแนวคิดการเปิดเสรีทางด้านการเงินและการค้าระหว่างประเทศ
(Liberalization)
3)
การผ่อนคลายกฎระเบียบที่เข้มงวด (Deregulation) สำหรับธุรกิจบางประเภทเพื่อปล่อยให้กลไกของตลาดทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
4)
การโอนกิจการของรัฐให้แก่เอกชนเป็นผู้ดำเนินการแทน (Privatization)
6.3 ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา
(The International Bank for Reconstruction and Development : IBRD)
ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนาหรือธนาคารโลกมีเป้าหมายให้ประเทศสมาชิก
ได้กู้ยืมเงินทุนเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการบูรณะและพัฒนาประเทศ
ตลอดจนให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการเกี่ยวกับโครงการ ลงทุนเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ
สำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา
6.3.1 วัตถุประสงค์ การดำเนินงานของธนาคารโลกมีดังนี้
1)
เพื่อฟื้นฟูบูรณะและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก
โดยการให้กู้ยืมเงินระยะยาวในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนต่าง ๆ
2)
เพื่อส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศของภาคเอกชน
ธนาคารโลกจะช่วยเหลือส่งเสริมโดยเป็นผู้ค้ำประกันการลงทุน หรือร่วมกับองค์กรอื่น
ในการกู้ยืมของเอกชน
3)
เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
6.3.2 หลักการพิจารณาเงินกู้แก่ประเทศสมาชิก
ก่อนที่จะให้เงินกู้ธนาคารโลกจะศึกษาระบบเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกเสียก่อนเพื่อพิจารณาโครงการที่มีความสำคัญอันดับสูง
หากประเทศสมาชิกมีปัญหาในการจัดหาและเตรียมโครงการที่เหมาะสม
ธนาคารจะส่งผู้เชี่ยวชาญไปให้ความช่วยเหลือ
โดยจะส่งผู้แทนออกไปสำรวจและวิเคราะห์เศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอย่างสม่ำเสมอ
หลังจากมีการเสนอโครงการอย่างเป็นทางการและธนาคารโลกได้พิจารณารายละเอียดทางด้านวิศวกรรม
เศรษฐกิจ และการเงิน ธนาคารโลกอาจมีการปรับปรุงแก้ไขโครงการเพื่อลดค่าใช้จ่าย
เพิ่มประสิทธิภาพ ปรับปรุงระบบบริหารงานเพิ่มหรือลดขนาดของโครงการให้เหมาะสม
6.4
ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย
(The Asian Development Bank :
ADB)
ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาประเทศในแถบภูมิภาคเอเชีย
ดำเนินการเมื่อปี ค.ศ. 1966 มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงมะนิลา มีสมาชิก 56 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
และประเทศนอกภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้ว
วัตถุประสงค์
1)
เพื่อการส่งเสริมทางเศรษฐกิจ
และความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกไกล
2)
ช่วยเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย
6.4.1
บทบาทการดำเนินการของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย
1)
บทบาทในการช่วยเหลือและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสมาชิก
โดยให้ความสำคัญกับโครงการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอีกทั้งยังให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ
ทั้งในลักษณะการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและการให้คำแนะนำในเรื่องต่าง ๆ
แก่สมาชิก
2)
บทบาทด้านความร่วมมือของประเทศสมาชิก
โดยสมาชิกร่วมลงทุนด้วยเงินทุนจดทะเบียนการค้า เงินทุนบริจาคจากประเทศสมาชิก
และเงินกู้ยืมโดยการออกพันธบัตรเพื่อจำหน่ายในตลาดทุนระหว่างประเทศ
นับเป็นความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือแก่กลุ่มประเทศในเอเชียเมื่อเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ
6.5 องค์การตลาดร่วมยุโรป (Common Market) ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community : E.E.C) และสหภาพยุโรป
(European Union : E.U)
สหภาพยุโรปได้พัฒนามาจากแผนการชูมอง
ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศประกอบด้วย เบลเยียม เนเธอร์แลนด์
ลักเซมเบอร์ก อิตาลี เยอรมนีตะวันตก และฝรั่งเศส ให้ชื่อว่า
องค์กรชุมนุมถ่านหินและเหล็กกล้าของยุโรป (The
European Coal and Steel Community = ECSC) ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1950 ต่อมาในปี ค.ศ. 1957 ลงนามในสนธิสัญญากรุงโรม
มีการรับสมาชิกเพิ่มอีก 6 ประเทศ คือ สหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ เดนมาร์ก กรีซ สเปน และโปรตุเกส รวม 12 ประเทศ ใน ค.ศ. 1991 ผู้นำประเทศยุโรป 12 ประเทศ
ได้ร่วมประชุมที่เมืองมาสทริคซ์ (Masstricht) ประเทศเนเธอร์แลนด์
มีข้อตกลงเกี่ยวกับรูปแบบของความร่วมมือด้านการเงิน การเมือง ต่อมาในปี ค.ศ. 1995 ได้พิจารณารับสมาชิกใหม่เพิ่ม
3 ประเทศ คือ ออสเตรีย สวีเดน และฟินแลนด์
รวมสมาชิกภาพ ของสหภาพยุโรป 15 ประเทศ
วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2004 สหภาพยุโรป
มีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 10 ประเทศ
ซึ่งเป็นการบรรลุวัตถุประสงค์อีกระดับหนึ่ง ของกลุ่มประเทศในยุโรป ที่ต้องการสร้างความแข็งแกร่ง
ทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม การผนึก EU. เข้าเป็นหนึ่งเดียว
จะเป็นพลังขับเคลื่อนให้กลุ่มสหภาพยุโรปมีบทบาทโดดเด่นในเวทีโลกเพิ่มขึ้น
ท่ามกลางการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จากกระแสโลกาภิวัตน์
และการเปิดเสรีทางการค้า
ประเทศสมาชิกใหม่ 10 ประเทศได้แก่ สาธารณรัฐเชก ฮังการี โปแลนด์ สโลวัก
สโลวีเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย เอสโตเนีย ไซปรัส และมอลตา
การร่วมใช้เงินสกุลยูโร
เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1998 ผู้นำประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 15 ประเทศ ได้จัดการประชุม ณ กรุงบรัสเซล
ประเทศเบลเยียม มีมติเห็นชอบ 3 ประเด็น ดังนี้
1)
สมาชิก 11 ประเทศนำร่อง ประกอบด้วยสมาชิกสหภาพยุโรปทุกประเทศ
ยกเว้น สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก สวีเดน และกรีซ
จะเริ่มใช้เงินยูโรตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1999
2)
กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างกัน
มีเงินสกุลยูโรเพียงสกุลเดียว คือเงินสกุลยูโร (Eurpean Currency Unit : ECU)
3)
ให้มีธนาคารกลางของสหภาพยุโรป (European Central Bank : ECB) มีที่ทำการ่อยู่ที่เมืองแฟรงเฟิร์ต ประเทศเยอรมนี
เพื่อบรรลุการมีเงินตราสกุลเดียวกันในปี
ค.ศ. 1999 ประเทศสมาชิกจะต้องสามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ซึ่งพิจารณาจากการขาดดุลงบประมาณไม่เกินร้อยละ
3 ของรายได้ประชาชาติมวลรวมภายในประเทศ
เงินเฟ้อไม่เกินร้อยละ 1.5 ของอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของ 3 ประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำสุดหนี้สาธารณะต้องไม่เกินร้อยละ 60 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
จากเงื่อนไขดังกล่าวทำให้กรีซไม่สามารถผ่านเกณฑ์ได้
ส่วนอังกฤษ เดนมาร์กและสวีเดนไม่ยอมเข้าในรอบแรก
เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังมีท่าทีต่อต้านและไม่เห็นด้วยเพราะเห็นว่าจะเป็นการเสียอธิปไตยทางการเงิน
เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังมีท่าทีต่อต้านและไม่เห็นด้วยเพราะเห็นว่าจะเป็นการเสียอธิปไตยทางการเงิน
นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1999 ประเทศสมาชิก EU 11 ประเทศ จึงได้ประกาศใช้เงินตราสกุลเดียวกัน ซึ่งมีชื่อว่า เงินยูโร
(EURO) เป็นตัวแทนชื่อเงินสกุลใหม่ของโลก ต่อมาวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2001 ประเทศกรีซได้ประกาศเข้าร่วมรวมเป็น 12 ประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2002 สมาชิก EU ทุกประเทศได้ใช้เงินยูโรทั้งในรูปเงินเหรียญ และธนบัตร
6.6 สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Association of Southeast Asian Nations :
ASEAN)
ก่อตั้งในปี
ค.ศ. 1967 มีสมาชิกได้แก่ อินโดนีเซีย
มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และไทยได้ลงนามในปฏิญญากรุงเทพ ต่อมา บรูไน เวียดนาม
ลาว พม่า เข้ามาเป็นสมาชิก และกัมพูชาได้เข้าเป็นสมาชิกของอาเซียนเมื่อปี ค.ศ. 1999 ทำให้อาเซียนเป็นองค์กรของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแท้จริง
ประเทศสมาชิกมีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา
และประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอินโดจีน
ซึ่งเคยเป็นปรปักษ์กันทางการเมืองในยุคสงครามเย็นเข้ามาเป็นสมาชิกสมดังเจตนารมณ์ของผู้นำในการก่อตั้ง
และรอการเข้ามาเป็นสมาชิกอันดับที่ 11 ของติมอร์ตะวันออกในโอกาสต่อไป
อาเซียนมีสำนักงานเลขาธิการตั้งอยู่ที่กรุงจาร์กาตา
ประเทศอินโดนีเซีย
6.6.1 วัตถุประสงค์ของอาเซียน มีสาระสำคัญดังนี้
1)
เพื่อเร่งรัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ความก้าวหน้าทางสังคม และวัฒนธรรมของภูมิภาค
2)
เพื่อส่งเสริมสันติภาพและเสรีภาพของภูมิภาค
ยึดมั่นในหลักการของสหประชาชาติ
3)
ส่งเสริมให้มีความร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ
สังคม วัฒนธรรม วิชาการ วิทยาศาสตร์ และการบริหารอย่างจริงจัง
4)
เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในรูปของการฝึกอบรม
การวิจัยในด้านการศึกษา วิชาชีพและการบริหาร
6.2.2 ประเทศไทยกับอาเซียน
ประเทศไทยในฐานะที่มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งอาเซียนไทยได้รับประโยชน์จากอาเซียนในด้านต่าง
ๆ ดังนี้
1)
ด้าน
การเมืองและความมั่นคง
ไทยได้ใช้กลไกของอาเซียนในการรักษาอธิปไตยของชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในช่วงของสงครามเย็น โดยเฉพาะหลังจากที่สหรัฐอเมริกาถอนทหารออกจากเวียดนาม
การยึดครองกัมพูชาของเวียดนามทำให้ประเทศกลุ่มอาเซียนหันมาร่วมมือกันมาก
ขึ้น
โดยมีไทยเป็นแรงผลักดันสำคัญเนื่องจากเป็นประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียนที่มี
พรมแดนติดกับกัมพูชาอาเซียนสามารถร่วมกันผลักดันในกรอบของสหประชาชาติและ
เวทีระหว่างประเทศอื่น
ๆ จนสามารถกดดันให้เวียดนามถอนทหารออกจากกัมพูชา
พลังความร่วมมือของอาเซียนก่อให้เกิดสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียง
ใต้
2)
ด้านเศรษฐกิจ
ไทยได้มีส่วนเพิ่มพูนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจภายในกลุ่มอาเซียนและกลุ่มอินโดจีนอย่างจริงจัง
เห็นได้จากนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบให้เป็นตลาดการค้า” แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์อันยาวไกลของผู้นำไทยในการที่จะพัฒนาเศรษฐกิจและศักยภาพของประเทศในภูมิภาคนี้
เนื่องจาก 10 ประเทศอาเซียนรวมกันเป็นตลาดใหญ่
มีประชากรถึง 500 ล้านคน
มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์และมีแรงงานขยันขันแข็งที่เอื้อต่อการลงทุนเพื่อการผลิต
3)
ด้านสังคม
ไทยนับว่ามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก
เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในภูมิภาคเอเชียให้ได้รับการศึกษา
การฝึกอบรมมีสุขภาพสมบูรณ์ มีฐานะความเป็นอยู่ที่มั่นคง
การดำเนินงานด้านการศึกษา
ไทยได้ร่วมมือกับประเทศอาเซียนตั้งเครือข่าย มหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network) ในด้านสาธารณสุขไทยและสมาชิกอาเซียน
มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ด้านเภสัชกรรม
ในส่วนของเยาวชนไทยมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนกิจกรรมเพื่อเยาวชน เช่น
การให้ความรู้ด้านเกษตรกรรมสำหรับเยาวชนในชนบท โครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์
ซึ่งเป็นโครงการร่วมมือกับญี่ปุ่นเพื่อสร้างความเข้าใจอันดี
ไทยยังได้ริเริ่มจัดตั้งศูนย์อบรมเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติด
และโครงการควบคุมโรคเอดส์ร่วมกับอาเซียน
อีกทั้งยังผลักดันให้อาเซียนยกระดับความร่วมมือด้านพัฒนาสังคม
โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 ของไทย
ภายหลังจากการเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในไทย
ซึ่งได้ขยายไปยังประเทศอื่นๆ ไทยได้เสนอการจัดทำโครงข่ายรองรับทางสังคม (Social Safety Nets) ที่จะให้อาเซียนร่วมกันแก้ไขผลกระทบทางด้านสังคม
มีการจัดตั้งมูลนิธิอาเซียนเพื่อส่งเสริมแลกเปลี่ยนนักศึกษา
นักวิชาการตลอดจนการมีส่วนร่วม ของประชาชนในกิจกรรมต่าง ๆ ของอาเซียน
6.7 เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA)
เขตการค้าเสรีอาเซียน
เกิดจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 4 เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 1992 ณ สิงคโปร์
ผู้นำอาเซียนได้มีมติเห็นสมควรจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ขึ้น ตามข้อเสนอของนายอานันท์ ปันยารชุน
นายกรัฐมนตรีของไทยและได้มีการลงนามในกรอบความตกลงขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
ตกลงอัตราภาษีพิเศษที่เท่ากัน
สำหรับอาเซียนและการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้สินค้าอาเซียนในตลาดโลก
รวมทั้งจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน
6.7.1
วัตถุประสงค์ของเขตการค้าเสรีอาเซียน
1)
เพื่อให้การค้าสินค้าภายในอาเซียนเป็นไปโดยเสรี
มีอัตราภาษีต่ำสุด และปราศจากข้อจำกัดที่มิใช่ภาษี
2)
เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในอาเซียน
3)
เพื่อเสริมสร้างสถานการณ์แข่งขันของอาเซียน
4)
เพื่อรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าโลกที่จะเสรียิ่งขึ้น
จากผลการเจรจาของแกตต์รอบอุรุกวัย
6.7.2
เป้าหมายของเขตการค้าเสรีอาเซียน
ประเทศสมาชิกจะต้องลดภาษีนำเข้าระหว่างกันให้เหลือร้อยละ 0.5 ภายใน 15 ปี (เริ่ม ค.ศ. 1993) รวมทั้งยกเลิกมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร จากเดิม 15 ปี ให้เหลือ 10 ปี ให้เสร็จสิ้นภายใน ค.ศ. 2003 สินค้าที่อยู่ในกลุ่มการดำเนินการลดภาษี
ได้แก่ ประเภทสินค้าเร่งลดภาษี มี 15 สาขาสินค้ามีกว่า 100 รายการ ที่เร่งลดภาษีภายในเดือนมกราคม ค.ศ. 2000 ดังเช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า
เคมีภัณฑ์ ปูนซีเมนต์ ประเภทสินค้าลดภาษีปกติ ลดภาษีลงภายใน 5 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1996-2003 ทั้งสินค้าอุตสาหกรรมแลเกษตรกรรมแปรรูปและไม่แปรรูป
ส่วนสินค้าอ่อนไหว ได้แก่ สินค้าเกษตรไม่แปรรูปจะลดภาษีลงตั้งแต่ ค.ศ. 2001 ยกเว้นข้าวและน้ำตาล
ที่จะใช้มาตรการพิเศษโดยเฉพาะ
6.8 องค์การของประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าส่งออก
(Organization of Petroleum Exporting Countries : OPEC)
องค์การโอเปคก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1960 เกิดจากความเคลื่อนไหวของประเทศที่ผลิตน้ำมันเป็นสินค้าส่งออก
5 ประเทศ คือ อิหร่าน อิรัก คูเวต ซาอุดิอาระเบีย
และ เวเนซูเอลา
ได้ร่วมกันจัดตั้งองค์การของประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก
มีสำนักงานเลขาธิการตั้งอยู่ที่กรุงเจนีวาประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ต่อมาได้ย้ายไปตั้งที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกโอเปค
ปัจจุบันสมาชิกโอเปคเพิ่มเป็น 13 ประเทศ จากทวีปต่าง ๆ ตามลำดับดังนี้
1. ทวีปเอเชีย จำนวน 7 ประเทศ ได้แก่ อิหร่าน อิรัก คูเวต กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรต และอินโดนีเซีย
2. ทวีปแอฟริกา
จำนวน 4 ประเทศ ได้แก่ ลิเบีย
ไนจีเรีย กาบอง และแอลจีเรีย
3. ทวีปอเมริกาใต้ จำนวน 2 ประเทศ ได้แก่ เวเนซูเอลา และเอกวาดอร์
ต่อมา ค.ศ. 1992 มีประเทศสมาชิกถอนตัวออก 2 ประเทศ คือ แอลจีเรีย และกาบอง
เนื่องจากไม่พอใจการจัดสรรโควตาไม่เป็นธรรม
6.8.1
วัตถุประสงค์ของโอเปค
1)
เพื่อปกป้องพิทักษ์ผลประโยชน์ทั้งปวงของประเทศสมาชิก
2)
เพื่อรักษาราคาน้ำมันให้มีเสถียรภาพ
3)
เพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้อย่างสม่ำเสมอสำหรับประเทศผู้ผลิตน้ำมัน
ในขณะเดียวกันก็จัดหาน้ำมันให้แก่ชาติที่ซื้อขายอย่างมีประสิทธิภาพและอย่างสม่ำเสมอ
6.9 ความตกลงทางการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North American Free Trade Agreement : NAFTA)
เป็นเขตการค้าเสรีที่ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา แคนาดา และแม็กซิโก ก่อตั้งขึ้นในเดือนมกราคม ค.ศ. 1992 ต่อมาชิลีได้เข้าเป็นสมาชิกเมื่อต้นปี
ค.ศ. 1996 พร้อมกับขยายความร่วมมือไปครอบคลุมด้านอื่น
ๆ เช่น พลังงาน บริการทางการเงิน การขนส่ง การลงทุน โทรคมนาคม
กรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งแวดล้อม และปัญหาพลังงาน
6.9.1 วัตถุประสงค์ของเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ
1) ร่วมมือทางเศรษฐกิจด้วยการกำจัดภาษีศุลกากรที่เป็นอุปสรรคทางการค้าในเวลา
5 ปี โดยให้มีการยกเว้นภาษีศุลกากรในสินค้าบางประเภท
และค่อย ๆ ลดภาษีจนไม่เก็บอีกต่อไปภายในเวลาที่กำหนด
2) ส่งเสริมให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม
และขยายโอกาสในการลงทุน จัดตั้งกลไกการยุติข้อพิพาททางการค้าที่ยุติธรรม
3) คุ้ม
ครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา
ประเทศที่ได้รับประโยชน์จากเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือมากที่สุดคือ เม็กซิโก
เพราะประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ
ซึ่งสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเพราะได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา
แต่สหรัฐอเมริกาก็ได้รับผลประโยชน์สามารถแก้ปัญหาแรงงานอพยพจากเม็กซิโกและ
มีตลาดสินค้าที่แน่นอน
ส่วนแคนาดาสามารถหาแหล่งแรงงานและวัตถุดิบราคาถูกซึ่งใช้เป็นปัจจัยการผลิต
สนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ
ประเทศไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าต่อเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ
ซึ่งเป็นตลาดสินค้าอันดับ 2 ของไทยรองจากญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 1996 ไทยส่งออกประมาณร้อยละ 19.2 ของมูลค่าส่งออกรวมโดยมีสินค้าสำคัญคือ เสื้อผ้าสำเร็จรูป
เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า อาหารกระป๋อง กุ้งแช่แข็ง อัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้า ตลอดจนเครื่องรับวิทยุและส่วนประกอบ
6.10 ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific Economic Cooperation : APEC)
ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1989 จากข้อเสนอของนายบ๊อบ ฮอว์ก (Bob Hawke) อดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียโดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา
ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ จนกลายเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีประชากรร่วมกันมากที่สุดกว่า 2,000 ล้านคน ครอบคลุม 3 ทวีป คือเอเชีย ออสเตรเลีย
และอเมริกามีสมาชิกเริ่มก่อตั้ง 12 ประเทศ ได้แก่
กลุ่มประเทศอาเซียน 6 ประเทศ คือ บรูไน
อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และสหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น
เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ต่อมาจีนฮ่องกง ไต้หวันเข้าเป็นสมาชิกในปี ค.ศ. 1991 เม็กซิโก ปาปัวนิวกีนี ค.ศ. 1993 ซิลี ค.ศ. 1994 เวียดนาม เปรู รัสเซีย ค.ศ. 1998 รวมเป็น 21 ประเทศ และมีสำนักเลขาธิการ
APEC ตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์
6.10.1
วัตถุประสงค์ของความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
1)
สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และของโลก
2)
พัฒนาและส่งเสริมระบบการค้าพหุพาคี บนรากฐานการเปิดเสรีการค้า
3)
ลดอุปสรรคการค้าสินค้าและการค้าบริการ
ตลอดจนการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก โดยให้สอดคล้องกับกฎของแกตต์
4)
ส่งเสริมการค้าเสรีระหว่างประเทศสมาชิก
ปรับปรุงกฎเกณฑ์ทางการค้าให้เกิดความเป็นธรรมในหมู่ประเทศสมาชิก
6.10.2
พัฒนาการความร่วมมือของกลุ่มเอเปค ความร่วมมือของสมาชิกในกลุ่มเอเปคได้พัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับ
ซึ่งได้มีการประชุมระดับผู้นำทุกปีเป็นประจำ
เพื่อร่างข้อตกลงร่วมกันและจะประชุมผู้นำเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการประชุมระดับรัฐมนตรี
การประชุมแต่ละครั้งได้ข้อสรุปดังนี้
1)
การวางกรอบการดำเนินงานของเอเปค ได้มีการประชุมสมาชิกขึ้นเป็น ครั้งแรกที่ออสเตรเลีย
ระหว่างปี ค.ศ. 1989-1993 ที่ประชุมเสนอแนวคิดที่จะสร้างประชาคมเอเชีย-แปซิฟิก เป็นภูมิภาคแบบเปิด
2)
ให้มีการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ผลสืบเนื่องมาจากการประชุมสุดยอดผู้นำ ครั้งที่ 2 ที่อินโดนีเซีย ในปี ค.ศ. 1994 ที่ประชุมได้ยอมรับหลักการที่จะมีเขตการค้าเสรี
แต่ต้องคำนึงถึงความแตกต่างในระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกและความพร้อมของแต่ละประเทศ
โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกที่พัฒนาแล้วเปิดเสรีภายในปี ค.ศ. 2010 แต่ประเทศที่กำลังพัฒนาให้เปิดเสรีในปี
ค.ศ. 2020
3)
การประกาศวาระปฏิบัติการเปิดเสรี
ในปี ค.ศ. 1995 ประเทศญี่ปุ่นเป็น เจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคครั้งที่
3 ได้จัดทำแผนปฏิบัติการโอซาก้า
เพื่อเป็นต้นแบบในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายในการเป็นเขตการค้าเสรี
4)
ร่วมกันผลักดันมาตรการต่าง
ๆ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ จากการประชุมสุดยอดครั้งที่ 4 ที่ฟิลิปปินส์ สมาชิกตกลงร่วมกันผลักดันมาตรการหลายอย่าง เช่น
การเปิดเสรีการค้า บริการการลงทุนและสาธารณูปโภค
ให้ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและวิชาการ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สนับสนุนการลงทุนในธุรกิจขนาดกลางและเล็ก
5)
การเปิดเสรีล่วงหน้ารายสาขาตามความสมัครใจ
ในที่ประชุมที่ประเทศ แคนาดาในปี ค.ศ. 1997 ตกลงกันให้เปิดเสรีล่วงหน้าตามความสมัครใจถึง 15 สาขา ประกอบด้วยสินค้าและการบริการด้านสิ่งแวดล้อม เคมีภัณฑ์
อุปกรณ์การแพทย์ พลังงาน ผลิตภัณฑ์จากป่า เป็นต้น
ซึ่งไทยมีท่าทีคัดค้านการเปิดเสรีด้านผลิตภัณฑ์จากป่าและการประมง
ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อผู้ผลิตภายในประเทศ
6)
ความล้มเหลวในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค สืบเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจในเอเชีย
ทำให้การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคต่อมาอีก 4 ครั้ง ไม่ประสบความสำเร็จ ครั้งที่ 6
ประชุมที่มาเลเซีย
ผู้เข้าประชุมมุ่งอภิปรายวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและหาแนวทางแก้ปัญหา ครั้งที่ 7 ที่ประเทศนิวซีแลนด์ และครั้งที่ 8
ที่บรูไน
ความสนใจอยู่ที่เรื่องปัญหาติมอร์ตะวันออก
การรับจีนเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก ส่วนครั้งที่ 9 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน
หัวข้อประชุมเป็นเรื่องผลกระทบจากการก่อวินาศกรรมในสหรัฐอเมริกา จากพฤิตกรรมดังกล่าวทำให้การเปิดเสรีทางการค้าของกลุ่มเอเปค ชะลอตัว
แม้กระทั่งสหรัฐอเมริกาประเทศผู้นำก็ได้ลดความสำคัญของเอเปคหันไปสนใจการเจรจาในกรอบขององค์การการค้าโลก
6.10.3 ประเทศไทยกับเอเปค
ประเทศไทยในฐานะสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งเอเปคจึงได้รับประโยชน์หลายประการโดยเฉพาะความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการจากโครงการต่าง
ๆ ของเอเปคเพื่อส่งเสริม
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลางตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร
การเป็นสมาชิกยังเปิดโอกาสให้ไทยเสริมสร้างอำนาจในการต่อรอง
เพื่อช่วยปกป้องผลประโยชน์ทางการค้า ในขณะเดียวกันการเปิดเสรีทางการค้า
ย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมบางสาขาของไทยที่ยังด้อยประสิทธิภาพในการผลิต
ฉะนั้นเพื่อให้ไทยได้เปรียบในการแข่งขันอุตสหกรรมของไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างการผลิต
ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น ไทยจึงจะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรี ในปี ค.ศ. 2003 ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคหลายระดับ ดังนี้
1)
การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส
-
ครั้งที่ 1 เดือนกุมภาพันธ์ ที่จังหวัดเชียงราย
-
ครั้งที่ 2 เดือนพฤษภาคม ที่จังหวัดขอนแก่น
-
ครั้งที่ 3 เดือนกันยายน ที่จังหวัดภูเก็ต
2)
การประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 5 เดือนมิถุนายน
ที่จังหวัดขอนแก่น
3)
การประชุมระดับผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 1 เดือนตุลาคม ที่กรุงเทพฯ
6.11 การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conferences on Trade and Development
: UNCTAD)
ความเป็นมาของอังค์ถัด เป็นองค์การระหว่างประเทศภายใต้กรอบ
ขององค์การ สหประชาชาติ
เกิดขึ้นจากความพยายามและความร่วมมือของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาซึ่งรวมกัน
เรียกว่ากลุ่ม 77 (G77) มีการประชุมครั้งแรกที่นครเจนีวาในปี ค.ศ. 1964 เพื่อเรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วร่วมมือหาทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการค้าและการพัฒนาของประเทศที่กำลังพัฒนา
โดยให้ประเทศที่กำลังพัฒนามีส่วนในการพิจารณาตัดสินปัญหาเกี่ยวกับการค้าและการเงินระหว่างประเทศ
6.11.1
วัตถุประสงค์ของอังค์ถัด
1)
เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่มีระดับการพัฒนาแตกต่างกัน
และมุ่งขจัดอุปสรรคต่าง ๆ
เพื่อให้ประเทศที่กำลังพัฒนาได้รับผลประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศอย่างเต็มที่
โดยการร่วมมือกับองค์การต่าง ๆ
ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกที่มีอยู่อย่างใกล้ชิด
2)
เพื่อดำเนินงานด้านต่าง
ๆ เช่น การเจรจาและต่อรองปัญหากฎหมายอันเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ
โดยร่วมมือกับหน่วยงานอื่นของสหประชาชาติ
3)
เป็นศูนย์กลางระดับโลกในการดำเนินงานเพื่อให้นโยบายการค้าและการพัฒนาของประเทศต่าง
ๆ รวมทั้งกลุ่มเศรษฐกิจระดับภูมิภาคต่าง ๆ มีความสอดคล้องซึ่งกันและกัน
6.11.2
บทบาทและผลงานขององค์การอังค์ถัด
การประชุม UNCTAD เริ่มจัดเป็นครั้งแรก
เมื่อปี ค.ศ. 1964 จนถึงปัจจุบันมีการประชุมใหญ่ ไปแล้ว 10 ครั้ง มีผลงานที่สำคัญดังนี้
1) ริเริ่มให้มีระบบสิทธิประโยชน์ทางการค้า
โดยจัดทำโครงการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Generalized
System of Preference : GSP) ที่ประเทศพัฒนาแล้วให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา
GSP หมายถึง
ระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรทั่วไป
ที่ประเทศพัฒนาแล้วให้แก่สินค้าที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศกำลังพัฒนา
โดยการยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าแก่สินค้าที่อยู่ในข่ายได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า
ทั้งนี้โดยประเทศผู้ให้สิทธิพิเศษฯ จะเป็นผู้ให้ฝ่ายเดียว โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ
ทั้งสิ้น และไม่มีการเลือกปฏิบัติ การดำเนินงานปัจจุบันมีระบบการให้ GSP ทั้งหมด 16 ระบบ
โดยประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษฯ จะได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีขาเข้าภายใต้ GSP ในอัตราต่ำกว่าภาษีขาเข้าทั่วไป
มีผลประโยชน์ต่อประเทศผู้ได้รับในด้านการส่งเสริมการพัฒนาสินค้าอุตสาหกรรม
เพิ่มรายได้จากการส่งออกและเร่งรัดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
2) การให้สิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน
โดยการจัดทำโครงการให้สิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างประเทศกำลังพัฒนา
ทั้งทางด้านภาษีศุลกากรและไม่ใช่ภาษีศุลกากร (Global
System of Trade Preference Among Developing Countries : GSTP) ซึ่งเป็นโครงการที่ประเทศกำลังพัฒนาให้สิทธิพิเศษระหว่างกัน
สมาชิกกลุ่ม 77 ได้ยื่นรายการขอลดหย่อนสินค้าซึ่งกันและกัน
รวม 1,627 รายการ
ข้อตกลงแลกเปลี่ยนสินค้านี้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ ค.ศ. 1987 โครงการนี้ช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาพึ่งพาตนเองได้มากขึ้นและเกิดการขยายการค้าระหว่างประเทศกำลังพัฒนา
3) บทบาทในการแก้ปัญหาสินค้าโภคภัณฑ์
โดยเป็นผู้ริเริ่มจัดทำโครงการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยสินค้าโภคภัณฑ์จากการประชุมอังค์ถัด สมัยที่ 4 ค.ศ. 1976 ที่ประชุมมีมติให้จัดตั้งโครงการร่วมเพื่อสินค้าโภคภัณฑ์
โดยวางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการผลิตอยู่ในระดับที่เหมาะสมทั้งระดับราคา
การปรับปรุงประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ส่งเสริมการขยายตัวด้านการค้า สินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกลงมี
8 ประเภท ได้แก่ กาแฟ น้ำตาล โกโก้ เนื้อโค นม ปอ
และผลิตภัณฑ์ปอไม้เขตร้อน และยางธรรมชาติ
เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ข้อตกลงสินค้าโภคภัณฑ์
ได้กำหนดที่จะดำเนินการที่สำคัญ คือ
1)
จัดตั้งองค์กรข้อตกลงสินค้าโภคภัณฑ์ระหว่างประเทศ
2)
ให้มีกลไกต่าง
ๆ ในการเข้าแทรกแซงตลาด
3)
ให้มีการดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการผลิต
4)
จัดตั้งกองทุนร่วมเพื่อสินค้าโภคภัณฑ์
6.11.3
ประเทศไทยกับอังค์ถัด
ไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดประชุมองค์การอังค์ถัดครั้งที่
10 ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2000 การประชุมครั้งนี้เป็นรูปแบบใหม่ได้ให้ภาคประชาสังคม
(Civil Society) ซึ่งประกอบด้วย ภาคเอกชนองค์การเอกชนและนักวิชาการ
เข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐ ผลการประชุมได้พิจารณาเห็นชอบ สรุปได้ดังนี้
1) ปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) เป็นแผนแม่บทในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก
เป็นการกำหนดบทบาทของอังค์ถัดในสหัสวรรษใหม่
ให้อำนวยประโยชน์ต่อกลุ่มประเทศสมาชิก
2) แผนปฏิบัติการกรุงเทพ (Bangkok Plan of Action) เป็นการนำวิธีการไปสู่การปฏิบัติให้ประเทศสมาชิกมีความเท่าเทียมกัน
มีโอกาสที่จะรับการปฏิวัติทางเทคโนโลยี การเปิดตลาดการค้าสาขาต่าง ๆ
และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนบทบาทขององค์การอังค์ถัด
ที่ผ่านมายังไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาผลประโยชน์ของประเทสมาชิกในกลุ่มที่
กำลังพัฒนา
การประชุมในประเทศไทยจึงเป็นความหวังที่จะประสานประเทศที่พัฒนาแล้วกับ
ประเทศกำลังพัฒนาให้มีโอกาสเท่าเทียมกันเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
7. องค์การระหว่างประเทศทางด้านการเมือง
นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง
ได้มีการประชุมสันติภาพขึ้น ณ พระราชวังแวร์ซายส์ ค.ศ. 1918 ตกลงจัดตั้งองค์การสันนิบาตชาติ
เพื่อรักษาสันติภาพและแก้ไขข้อขัดแย้งโดยสันติวิธี
แต่สันนิบาตชาติก็ไม่สามารถรักษาสันติภาพของโลกได้ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้มีความพยายามจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศขึ้นอีก
องค์การระหว่างประเทศทางการเมืองที่สำคัญมีดังนี้
7.1 องค์การสหประชาชาติ
(The United Nations Organization)
|
|
ตึกสำนักงานองค์การสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก
|
|
|
|
logo UNESCO
|
logo UN
|
นายโคฟี่ อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ |
Logo APEC |
Logo IMF |
Logo UNHCR |
องค์การสหประชาชาติ
เป็นองค์การระหว่างประเทศระดับโลกที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1945 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงนิวยอร์ก
ประเทศสหรัฐอเมริกา มีสมาชิกประกอบด้วยประเทศเอกราชต่าง ๆ จากทุกภูมิภาคของโลก
จากจำนวนสมาชิกก่อตั้ง 51 ประเทศในปี ค.ศ. 1945 ได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปี
ค.ศ. 2002 สหประชาชาติมีมติรับสมาชิกเพิ่มเติมดังนี้
ทูวาลู (Tuvalu) เมื่อ 5 กันยายน ค.ศ. 2002 เป็นสมาชิกอันอับที่ 189
สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อ 10 กันยายน ค.ศ. 2002 เป็นสมาชิกอันดับที่ 190
ติมอร์ตะวันออก เมื่อ 27 กันยายน ค.ศ. 2002 เป็นสมาชิกอันดับที่ 191
7.1.1 วัตถุประสงค์ขององค์การสหประชาชาติ
องค์การสหประชาชาติได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่
24 ตุลาคม ค.ศ. 1945 เมื่อกฎบัตรสหประชาชาติมีผลบังคับใช้ กฎบัตรสหประชาชาติได้กำหนดวัตถุประสงค์ขององค์การสหประชาชาติไว้ดังนี้
1)
เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติ
และความมั่นคงระหว่างประเทศ
2)
เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างประชาชาติทั้งปวง
โดยยึดการเคารพต่อหลักการแห่งสิทธิอันดับเท่าเทียมกัน
3)
เพื่อให้บรรลุถึงความร่วมมือระหว่างประเทศ
ในอันที่จะแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม
หรือมนุษยธรรมและการส่งเสริมสนับสนุนการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นมูลฐานสำหรับทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติในเรื่องเชื้อชาติ
เพศ ภาษา หรือศาสนา
4)
เพื่อ
เป็นศูนย์กลางสำหรับการประสานงานของประชาชาติทั้งหลายให้กลมกลืนกันในอันที่
จะบรรลุจุดหมายปลายทางร่วมกันกล่าวได้ว่าองค์การสหประชาชาติก่อตั้งขึ้นมา
ด้วย
เจตนารมณ์ที่จะขจัดภัยพิบัติอันเกิดจากสงคราม ประกันสิทธิมนุษยชน
ตลอดจนส่งเสริมความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมของมลมนุษยชาติ
7.1.2 หลักการขององค์การสหประชาชาติ
เพื่อให้องค์การสหประชาชาติสามารถดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
กฎบัตรสหประชาชาติได้วางหลักการที่องค์การสหประชาชาติ
และประเทศสมาชิกจะพึงยึดถือเป็นแนวทางในการดำเนินการระหว่างประเทศ ดังนี้
1)
หลักความเสมอภาคในอธิปไตย
รัฐย่อมมีอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์
2)
หลักความมั่นคงร่วมกัน
เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงร่วมกัน ดำเนินมาตรการร่วมกัน
เพื่อป้องกันและขจัดการคุกคามระต่อสันติภาพ
3)
หลักเอกภาพระหว่างมหาอำนาจ
ซึ่งได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และจีน
4)
หลักการไม่ใช้กำลัง
และการระงับกรณีพิพาทโดยสันติวิธี
5)
หลักความเป็นสากลขององค์การ
เปิดกว้างแก่รัฐที่รักสันติทั้งปวง
6)
หลักการเคารพของอำนาจศาลภายใน
ปัญหาใดที่ประเทศสมาชิกอ้างว่าเป็นกิจการภายในสหประชาชาติจะไม่มีสิทธิหรืออำนาจเข้าแทรกแซง
องค์การหลักขององค์การสหประชาชาติ
สหประชาชาติมีการดำเนินงานเกือบทั่วทั้งโลกโดยผ่านหน่วยงานหลัก 6 องค์กร คือ
1) สมัชชา
สมัชชาเป็นที่รวมของประเทศสมาชิกทั้งหมดของสหประชาชาติ
ซึ่งทุกประเทศมีสิทธิออกเสียงได้ 1 เสียง
มีหน้าที่พิจารณาและให้คำแนะนำในเรื่องต่าง ๆ ภายในกรอบของกฎบัตรสหประชาชาติ
แม้ว่าสมัชชากำหนดเป้าหมายและกิจกรรมเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ
เรียกร้องให้มีการประชุมระดับโลกในหัวข้อสำคัญ ๆ และกำหนดปีสากลเพื่อเน้นความสนใจในประเด็นที่สำคัญ
ๆ ของโลก สมัชชามีการประชุมสมัยสามัญปีละครั้ง การลงคะแนนเสียงในเรื่องทั่วไป
ใช้เสียงข้างมาก แต่ถ้าเป็นปัญหาสำคัญจะต้องได้คะแนน 2 ใน 3 ของสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมและออกเสียง
2) คณะมนตรีความมั่นคงมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการธำรงรักษาสันติภาพ
และความมั่นคงระหว่างประเทศ ประกอบด้วยสมาชิก 15 ประเทศ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือสมาชิกถาวร มี 5 ประเทศ คือ จีน ฝรั่งเศส
รัสเซีย อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และสมาชิกชั่วคราว มี 10
ประเทศ
อยู่ในตำแหน่งครั้งละ 2 ปี ในกรณีประเทศสมาชิกถาวร
ประเทศใดประเทศหนึ่งออกเสียงคัดค้านถือว่าเป็นการใช้สิทธิยับยั้ง (Veto) อันจะมีผลทำให้เรื่องนั้น ๆ
ตกไปในยุคของสงครามเย็นการดำเนินงานของคณะมนตรีความมั่นคงประสบกับสภาวะชะงักงัน
เนื่องจากการใช้สิทธิยับยั้งของประเทศมหาอำนาจ สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงไม่ว่าจะเป็นสมาชิกประจำหรือไม่ก็ตาม
จะต้องงดเว้นออกเสียง เมื่อมีการพิจารณาปัญหาข้อพิพาทที่ตนเป็นคู่กรณีด้วย
3) คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม
มีหน้าที่สำคัญคือการส่งเสริมและจัดทำข้อเสนอแนะกิจกรรม
ที่มุ่งเน้นความร่วมมือระหว่างประเทศทางด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงเรื่องการค้า
การขนส่ง การพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาเศรษฐกิจ
ประชากรและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของมนุษย์
คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมประกอบด้วยสมาชิก 54 ประเทศ อยู่ในตำแหน่งคราวละ
3 ปี การลงคะแนนเสียงใช้คะแนนเสียงข้างมาก
ภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม ประกอบด้วยคณะกรรมาธิการประจำภูมิภาคต่าง ๆ
โดยเฉพาะคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (The Economic and Social Commission for Asia and The Pacific :
ESCAP) สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร
4) คณะมนตรีภาวะทรัสตี ประกอบด้วย จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย อังกฤษ และสหรัฐอเมริกามีหน้าที่ดูแลดินแดนในภาวะทรัสตีที่รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ
รับผิดชอบอยู่เพื่อให้มีการดำเนินงานเป็นขั้นตอนอันจะนำไปสู่การปกครองตนเอง
หรือการได้รับเอกราช เดิมดินแดนในภาวะทรัสตีมี 11 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกา
และมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งได้รับเอกราชไปหมดแล้ว ปาเลา (Palau) เป็นดินแดนในภาวะทรัสตีแห่งสุดท้าย
เดิมอยู่ในความดูแลของสหรัฐอเมริกาได้รับเอกราชเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1994 ส่งผลให้คณะมนตรีภาวะทรัสตีหยุดการปฏิบัติงานอย่างเป็นทางการและจะประชุม
เฉพาะเรื่องพิเศษตามความจำเป็น
5) ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ
“ศาลโลก” ตั้งอยู่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์
เป็นองค์กรตุลาการที่สำคัญของสหประชาชาติ ประกอบด้วยผู้พิพากษา จำนวน 15 นาย อยู่ในตำแหน่งคราวละ 9 ปี
คู่ความที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาลได้จะต้องเป็นรัฐคู่กรณีซึ่งเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ
ถ้ามิใช่สมาชิกจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสมัชชา เอกชน จะนำคดีมาสู่ศาลนี้ไม่ได้
6) สำนักเลขาธิการ ทำหน้าที่
บริหารงานของสหประชาชาติ ภายใต้การนำของเลขาธิการ
เลขาธิการสหประชาชาติเลือกตั้งโดยสมัชชาด้วยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามทั้งนี้โดยคำแนะนำของคณะมนตรีความมั่นคง
เลขาธิการมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี
โดยหลักการเลขาธิการจะมาจากประเทศที่เป็นกลางหรือไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
หน้าที่สำคัญของเลขาธิการ คือ
การรายงานสถานการณ์ระหว่างประเทศที่กระทบต่อความมั่นคงระหว่างประเทศให้คณะมนตรีความมั่นคงทราบ
และทำหน้าที่ทางการทูตของสหประชาชาติ
เลขาธิการสหประชาชาติตั้งแต่เริ่มก่อตั้งองค์การสหประชาชาติมาจนถึงปัจจุบันมี
ดังนี้
1. นายทริกเว
ลี (Trygve Lie) จากประเทศนอร์เวย์ (ค.ศ. 1946-1953)
2. นายดั๊ก
ฮัมมาร์โชลด์ (Dag Hammarskjold) จากประเทศสวีเดน (ค.ศ. 1953-1961)
3. นายอู ถั่น (U Thant) จากประเทศพม่า (ค.ศ. 1961-1971)
4. นายคูร์ต วอลด์ไฮม์ (Kurt Waldheim) จากประเทศออสเตรีย (ค.ศ. 1972-1981)
5. นายฮาเวียร์ เปเรส เดอ
เควยาร์ (Javier
Perez de Quellar) จากประเทศเปรู (ค.ศ. 1982-1991)
6. นายบรูโทรส บรูโทรส กาลี (Boutros Boutros Ghali)
จากประเทศอียิปต์
(ค.ศ. 1992-1996)
7.
นายโคฟี อันนัน (Kofi Annan) จากประเทศกานา เข้ารับตำแหน่ง วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1997 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2001 ต่อมาได้รับเลือกเป็นเลขาธิการสหประชาชาติสมัยที่ 2 ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2002 ถึง 31 ธันวาคม ค.ศ. 2006
นอกจากนั้นยังมีองค์กรพิเศษที่ทำงานในฐานะองค์การสหประชาชาติอีกหลายองค์การ
เช่น ทบวงการชำนาญพิเศษแห่งสหประชาชาติ (Specialized
Agencies) ซึ่งเป็นองค์การอิสระและปฏิบัติงานเฉพาะด้าน
ทำหน้าที่ในการส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสมาชิกซึ่งจัดตั้งขึ้นตามความตกลงของรัฐบาล
ในปัจจุบันมี 16 องค์การ ได้แก่
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ
(FAO) องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ
(UNESCO) องค์การบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนาหรือธนาคารโลก (IBRD/World Bank) กองทุนการเงินระหว่างประทศ (IMF) องค์การอนามัยโลก (WHO) สหภาพไปรษณีย์สากล (UPU)
สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) สมาคมพัฒนาระหว่างประเทศ (IDA) บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ
(IFC) องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) องค์การกิจการทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO)
องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก
(WIPO) กองทุนระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาเกษตรกรรม (IFAD) องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) และมีองค์กรอิสระซึ่งมิใช่ทบวงชำนัญพิเศษ ได้แก่ ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยการพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและการค้า
(GATT) และสำนักงานพลังปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เป็นต้น
ในปัจจุบันองค์การสหประชาชาติ
ได้จัดตั้งทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ
เพื่อปฏิบัติงานอันใดอันหนึ่งหรือเฉพาะด้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการส่งเสริมทางเศรษฐกิจ
สังคมและการศึกษา ในบรรดาประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศด้อยพัฒนา เช่น
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ซึ่งได้ดำเนินการในสิ่งที่เป็นระโยชน์
ต่อมวลมนุษยชาติมากมาย ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง องค์การสหประชาชาติ
จึงเป็นองค์การหลักที่มีความสำคัญ
ผลงานขององค์การสหประชาชาติ
ตลอดระยะเวลา 50 กว่าปีที่ผ่านมา
สหประชาชาติได้สร้างวิวัฒนาการของความร่วมมือระหว่างประเทศที่ครอบคลุมการดำเนินงานในด้านต่าง
ๆ อย่างกว้างขวาง ผลงานของสหประชาชาติสรุปได้ดังนี้
1)
ด้านการรักษาสันติภาพ
โดยคณะมนตรีความมั่นคงได้ดำเนินมาตรการบีบบังคับทั้งที่ไม่ใช้กำลังอาวุธและใช้กำลังทางอาวุธโดยความร่วมมือจากประเทศสมาชิกมาแล้ว
2 ครั้ง คือครั้งแรกในสงครามเกาหลีปี ค.ศ. 1950 และสงครามอ่าวเปอร์เซียในกรณีที่อิรักส่งทหารเข้ายึดครองคูเวต
ค.ศ. 1991 สหประชาชาติยังรับหน้าที่เจรจาแก้ไขความขัดแย้ง
เช่น การยุติสงครามอิรัก-อิหร่าน การถอนทหารโซเวียตออกจากอัฟกานิสถาน การยุติความขัดแย้งในกัมพูชา
การยุติสงครามกลางเมืองในเอลซัลวาดอร์ สหประชาชาติยังได้ดำเนินการทูตหลังฉากในการป้องกันความขัดแย้งกว่า
50 กรณี ไม่ให้ขยายตัวเป็นสงคราม
ปัจจุบันเกิดกระแสชาตินิยมท้องถิ่นทำให้เกิดความขัดแย้งทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา
การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐบาล
ในขณะเดียวกันลักษณะความขัดแย้งได้เพิ่มความสลับซับซ้อนมากขึ้น ทำให้สหประชาชาติต้องส่งกองกำลังรักษาสินติภาพเข้าไปปฏิบัติงาน
2)
การส่งเสริมประชาธิปไตย
สหประชาชาติได้ช่วยให้ประชาชนกว่า 45 ประเทศมีสิทธิออกเสียงในการเลือกตั้งที่เสรี
และยุติธรรม เช่น ในนามิเบีย กัมพูชา เอลซัลวาดอร์
เอริเทรีย โมแซมบิค
นิการากัว และล่าสุดในติมอร์ตะวันออก โดยสหประชาชาติได้ให้คำปรึกษา
ความช่วยเหลือและตรวจสอบผลการเลือกตั้ง
3)
การส่งเสริมการพัฒนา
โดยจัดสรรเงินทั้งเงินกู้และเงินให้เปล่าให้กับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ
ได้วางแผนและดำเนินโครงการด้านการเกษตร อุตสาหกรรม การศึกษา และสิ่งแวดล้อมกว่า 5,000 โครงการ
4)
การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน
โดยคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนได้สืบสวนเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน
และได้กระตุ้นให้ประชาคมโลกสนใจในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศต่าง ๆ
จนก่อให้เกิดแรงกดดันระหว่างประเทศ
เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศนั้น ๆ
5)
การปกป้องสิ่งแวดล้อมและชั้นโอโซน
สหประชาชาติได้จัดประชุมนานาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ที่ริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล ใน ค.ศ. 1992 ที่ประชุมได้รับรองอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อรักษาระดับก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลกไม่ให้ร้อนขึ้น
และลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
เพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน รับรองแผนปฏิบัติการ 21 (Agenda 21) สร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่าง สิ่งแวดล้อมกับการพัฒนา
เพื่อบรรลุถึงการพัฒนาแบบยั่งยืนและได้จัดประชุมนานาชาติชี้ให้เห็นอันตรายจากการสูญเสียชั้นโอโซน
ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะที่ผ่านมา
6)
การให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
โดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) ได้ให้ความคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์ใหม่
ๆ และมีการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเกือบ 3 ล้านชิ้น
กฎบัตรดังกล่าวยังมีผลให้มีการคุ้มครองผลงานของศิลปิน นักประพันธ์เพลง
และนักเขียนทั่วโลก
7)
การอนุรักษ์และบูรณะสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์
วัฒนธรรมและสถาปัตยกรรม โดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ดำเนินการอนุรักษ์โบราณสถานใน 81 ประเทศ เช่น กรีซ อียิปต์ อินโดนีเซีย กัมพูชา และไทย
นอกจากนี้ยังได้จัดประชุมนานาชาติเพื่ออนุรักษ์ทรัพย์สินทางวัฒนธรรม
ประเทศไทยกับองค์การสหประชาชาติ
ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติลำดับที่ 55 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ.1946 คนไทยที่ได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งสำคัญคือ
พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
ทรงได้รับเลือกเป็นประธานสมัชชาสมัยสามัญที่ 11 เมื่อปี ค.ศ. 1956 ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติในด้านต่าง
ๆ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
1)
บทบาทด้านการส่งเสริมสันติภาพและรักษาความมั่นคงระหว่างประเทศ
ไทยได้ส่งทหารเข้าร่วมปฏิบัติการกับกองกำลังสหประชาชาติ เมื่อเกิดสงครามเกาหลีในปี
ค.ศ. 1950 จนสามารถสงบศึกได้
ในช่วงทศวรรษ 1980 เข้าช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งในกัมพูชาจนสำเร็จเกิดความสงบและไทยยังได้มีบทบาทเข้าร่วมปฏิบัติการในการรักษาสันติภาพในภูมิภาคต่าง
ๆ ของโลก เช่น ในปัจจุบันได้ส่งทหารปีละ 5 นาย
เข้าร่วมรักษาสันติภาพบริเวณชายแดนอิรักกับคูเวต ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจปีละ 5 นายร่วมปฏิบัติการรักษาสันติภาพในบอสเนีย-เฮอร์เซโกวินา ส่งทหาร 1,581 นาย
ร่วมปฏิบัติการในติมอร์ตะวันออก นอกจากภารกิจทางการทหารแล้ว
ทหารไทยยังได้รับคำแนะนำทางการเกษตรตามแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียงแก่ชาวติมอร์ตะวันออก
อีกทั้งยังมีโครงการฝึกอบรมการจัดตั้งหมู่บ้านป้องกันตนเอง การฝึกอบรมด้านสาธารณสุขตลอดจนการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
บทบาทของไทยในครั้งนี้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติและเป็นที่ชื่นชมของชาวติมอร์ตะวันออกอย่างมาก
2)
บทบาทและความร่วมมือในด้านสังคม
ไทยให้ที่พักพิงแก่ผู้อพยพชาวลาว กัมพูชาและเวียดนาม ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 ในระยะที่มีการสู้รบในประเทศเพื่อนบ้าน
ได้รณรงค์ให้ประชาคมระหว่างประเทศสนใจปัญหาผู้อพยพ
ปัจจุบันไทยยังรับภาระดูแลผู้ลี้ภัยจากการสู้รบในพม่ากว่าแสนคน
ไทยยังได้พัฒนามาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนภายในประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
เช่น การเข้าเป็นภาคอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อรับพันธกรณีที่จะคุ้มครองสิทธิของประชาชนด้านต่าง
ๆ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในด้านการพัฒนา เช่น ปัญหาความยากจน
การค้ามนุษย์ ยาเสพติด การฟอกเงิน การระบาดของเชื้อเอชไอวีและโรคอื่น
ๆ
7.2
องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization :
NATO)
เป็นองค์การพันธมิตรทางทหารระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆ
ในยุโรป ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1949 ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 16 ประเทศ คือ นอร์เวย์ เดนมาร์ก เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบอร์ก
ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน โปรตุเกส อิตาลี กรีซ ตุรกี อังกฤษ ไอซ์แลนด์
สหรัฐอเมริกาและแคนาดา ต่อมา ค.ศ. 1999 มีการรับสมาชิกใหม่เพิ่มอีก 3 ประเทศ คือ โปแลนด์ เช็ค
และฮังการี รวมเป็น 19 ประเทศ
องค์การนาโต้มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงบรัสเซลล์
ประเทศเบลเยียม
วัตถุประสงค์ขององค์การนาโต้
1)
ต่อต้านอำนาจของสหภาพโซเวียต สกัดกั้นการขายอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ในยุโรป
2)
สร้างความมั่นคงร่วมกันระหว่างกลุ่มประเทศประชาธิปไตยในยุโรป
โดยมีสหรัฐอเมริกาและแคนาดาให้ความร่วมมือช่วยเหลือ
3)
รักษาเสถียรภาพของยุโรป
เป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในยุโรป
บทบาทและการดำเนินงานขององค์การนาโต้
1)
บทบาทในการป้องกันภัยคุกคามภูมิภาคยุโรป จากฝ่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ
ตลอดช่วงเวลาของสงครามเย็นองค์การนาโต้มีบทบาทสำคัญยิ่ง สามารถป้องกันยุโรปตะวันตกให้ปลอดภัยจากลัทธิคอมมิวนิสต์
จนกระทั่งสหภาพโซเวียตล่มสลาย
สงครามเย็นสิ้นสุดลง
2)
บทบาทในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงให้เกิดขึ้นในสังคมโลก
เนื่องจากการได้รับเอกราชของประเทศบริวารคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางเชื้อชาติที่รุนแรง
ในอดีตยูโกสลาเวีย และในดินแดนสาธารณรัฐต่าง ๆ ของอดีตสหภาพโซเวียตจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง
องค์การนาโต้ได้แสดงบทบาทในการรักษาสันติภาพด้วยการปฏิบัติการของกองกำลังนาโต้
เช่นเมื่อเกิดสงครามในบอสเนีย และสงครามในโคโซโว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยูโกสลาเวีย
การปฏิบัติการทหารเต็มรูปแบบของนาโต้ ทำให้ยูโกสลาเวียยอมจำนน
ความสงบจึงได้กลับสู่ดินแดนยุโรป
3)
บทบาทในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ
เป็นการกระชับความร่วมมือทางทหารกับรัสเซียและยุโรปตะวันออก
จึงได้จัดตั้งมาตรการความร่วมมือที่เรียกว่า หุ้นส่วนเพื่อสันติภาพ (Partership for Peace) ขึ้นในปี ค.ศ. 1994 ส่งผลให้จอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และวลาติเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) ประธานาธิบดีรัสเซีย
ได้ลงนามสัญญามอสโก ตกลงลดอาวุธนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ที่สุด ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2002 โดยแต่ละฝ่ายจะลดหัวรบนิวเคลียร์
ลง 2 ใน 3 ในระยะเวลา 10 ปี
ผู้นำรัสเซียยังได้ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือในฐานะหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกันด้วยการจัดตั้งสภานาโต้-รัสเซียขึ้นในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน มีผลทำให้รัสเซียเข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจร่วมกันในเรื่องต่าง
ๆ เช่น การปราบปรามผู้ก่อการร้ายข้ามชาติ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติ
การรักษาสิ่งแวดล้อมของโลก การปรับเปลี่ยนบทบาทขององค์การนาโต้
นับว่าสอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไปหลังยุคสงครามเย็น
บทสรุปบทที่ 2
สงครามโลกครั้งที่
2 ซึ่งสิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1945
เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการเมืองโลก ประเทศมหาอำนาจที่เคยแสดงบทบาทก่อนสงคราม
เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และญี่ปุ่นได้ลดบทบาทลง
เนื่องจากได้รับความบอบช้ำและเสียหายจากสงคราม ในขณะที่สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทเป็นมหาอำนาจแทนที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา
ซึ่งเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ มีแสนยานุภาพทางทหาร มีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง
กลายเป็นมหาอำนาจที่โดดเด่น
สหรัฐอเมริกาได้ร่วมมือกับประเทศพันธมิตรฝ่ายชนะสงครามจัดระเบียบโลกใหม่
เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเมือง และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ
อีกทั้งยังหาทางป้องกันไม่ให้เกิดสงครามโลกขึ้นมาอีก
ด้วยการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้น โดยหวังว่าจะช่วยจรรโลงให้เกิดสันติภาพในโลก
แต่ปรากฏว่าความหวาดระแวงระหว่างมหาอำนาจทั้งสอง ที่มีความแตกต่างทางด้านอุดมการณ์ทางการเมืองและระบบเศรษฐกิจนำไปสู่ความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียตจนกลายเป็น “สงครามเย็น” ใน ค.ศ. 1947
เป็นเหตุให้สังคมโลกตกอยู่ในภาวะตึงเครียดในช่วงเกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากการแข่งขันการขยายอิทธิพลและการแทรกแซง
ของมหาอำนาจตามภูมิภาคต่างๆ ของโลก
ปลายทศวรรษที่
1980
บรรยากาศความตึงเครียดได้ผ่อนคลายลง
เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ของมหาอำนาจจากความขัดแย้งสู่ความร่วมมือ
อีกทั้งยังมีการพังทลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก ติดตามด้วยการทำลายกำแพงเบอร์ลิน การรวมเยอรมนีและการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในที่สุด
กล่าวได้ว่าสงครามเย็นได้สิ้นสุดลงพร้อมกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในต้นทศวรรษที่
1990
เมื่อประเทศรัสเซียซึ่งเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในอดีตสหภาพโซเวียต ต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ
ปัญหาเชื้อชาติ
จนไม่สามารถก้าวขึ้นมาแข่งขันกับสหรัฐอเมริกาได้
อย่างไรก็ตามแม้สงครามเย็นจะยุติลงแล้ว
แต่ไม่ได้หมายความว่าสังคมโลกจะได้พบกับสันติภาพที่ถาวร สังคมโลกยุคใหม่ที่เรียกว่า ยุคโลกาภิวัตน์ แท้ที่จริงแล้วกระบวนการโลกาภิวัตน์ คือการครอบงำโลกทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของอภิมหาอำนาจ
ซึ่งสามารถแผ่อิทธิพลของตนผ่านสื่ออีเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบต่างๆ ผลกระทบของกระบวนการโลกาภิวัตน์โดยตรงต่อชาติที่เจริญทางเทคโนโลยีการสื่อสารที่ด้อยกว่าคือ การทำลายกำแพงวัฒนธรรม เอกลักษณ์ของประชาชาติทั้งหลาย
ในขณะเดียวกันพบว่าหลายส่วนของโลกยังมีสงครามภายในรุนแรง อันเกิดจากความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ศาสนา
และวัฒนธรรมตลอดจนการแย่งชิงผลประโยชน์ สังคมโลกยังต้องเผชิญกับปัญหาท้าทายใหม่ๆ
เช่น
ปัญหาโรคเอดส์ที่ยังไม่มีตัวยาชนิดใดจะเยียวยาได้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมตลอดจนปัญหาการก่อการร้ายข้ามชาติ
ปัญหาเหล่านี้ได้กลายเป็นปัญหาไร้พรมแดน
ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาคมโลกจะต้องร่วมมือกันหาทางแก้ไข
ในขณะเดียวกันเราได้เห็นความพยายามขององค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
องค์การสหประชาชาติและทบวงการชำนัญพิเศษต่างๆ ที่ได้พยายามเข้าไปแก้ปัญหาของสังคมโลกทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
ประเทศในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลกไทยได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศทั้งในระดับโลก และระดับภูมิภาค
ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของชาติอีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างบทบาทของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
สังคมโลกในอนาคตจะพบกับสันติสุขได้
หากทุกประเทศให้ความร่วมมือกันไม่เอารัดเอาเปรียบเน้นการพัฒนาอย่างมีทิศทางสมดุลและยั่งยืน